วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

วงรอบอายุ


“วงรอบอายุ” เป็นอีกวิธีการหนึ่งซึ่งได้ยินกันบ่อยๆในวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียน
.
อธิบายง่ายๆ ก็คือค่าโค้งสุริยยาตร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของเจ้าชะตาจนในที่สุดก็ครบ 1 รอบของจานหมุน (สำหรับจานหมุน 45 องศา) นั่นเอง
.
เรื่องของโค้งสุริยยาตร์นั้นอธิบายสั้นๆ อย่างนี้ว่า



หลักพื้นฐานของโค้งสุริยยาตร์ก็คือ ปัจจัยต่างๆ ในดวงกำเนิดจะถูกทำให้เคลื่อนที่เพิ่มปีละประมาณ 1 องศา (ดวงกำเนิดหมุนไปปีละประมาณ 1)
.
โดยค่าการเคลื่อนที่ปีละ 1 องศาที่ว่านี้เป็นค่าโดยประมาณง่ายๆเท่านั้น เพราะหากต้องการตัวเลขที่แน่นอนจะต้องได้มาจากการคำนวณ แต่ก็จะมากน้อยไปกว่าค่า 1 องศานี้เพียงไม่กี่ลิปดาเท่านั้น
.
เพราะฉะนั้นถ้าเราตั้งดวงชะตาด้วยจาน 45 องศา เราจะพบว่าเมื่อเจ้าชะตามีอายุประมาณ 45 ปี ปัจจัยต่างๆในดวงโค้งจะวิ่งครบ 1 รอบพอดี (คือกลับมาอยู่ในที่เดิมของมัน)
.
ลักษณะแบบนี้ก็เรียกว่าวงรอบอายุครบ 1 รอบในจาน 45 องศา (แต่ถ้าเป็นจานอื่นเช่น 90 องศาโอกาสครบรอบคงมีน้อยมาก เพราะต้องใช้เวลาถึง 90 ปีกว่าจะครบรอบ)
.
และด้วยหลักการนี้เอง หมายความว่า ในปีที่เจ้าชะตาอายุ 46 ปี ตำแหน่งปัจจัยในดวงโค้งก็จะกลับไปเหมือนกับเมื่อตอนอายุ 1 ปีทุกประการ
.
หมายความว่าเหตุการณ์สำคัญในขณะที่มีอายุ 1 ปี(หากมี) ก็ย่อมที่จะกลับมาเกิดซ้ำอีกในวัย 46 ปี ซึ่งในทางปฏิบัติจริงเหตุการณ์สำคัญ(หากมี)ที่จะเกิดซ้ำนั้นคงไม่เหมือนเดิมเป๊ะ แต่คงเป็นเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็สามารถตีความหมายได้ด้วยโครงสร้างดาวชุดเดิมได้
.
จากทฤษฎีเรื่องวงรอบอายุนี้ สมมุติว่าเมื่อตอนเราอายุ 5 ขวบเกิดเหตุการณ์สำคัญเช่นเคยป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลแทบเอาชีวิตไม่รอด นั่นหมายความว่าในวัย 50 ก็มีแนวโน้มสูงทีเดียวที่จะเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้อีก เช่นนี้เป็นต้น
.
และในกรณีที่เจ้าชะตาอายุยังไม่ถึง 45 ปี คือยังไม่ครบรอบของจาน 45 องศา
.
ก็จะใช้วิธีการเอา 22.5 ปีไปลบ
.
พูดง่ายๆก็คือในเมื่อยังไม่ครบรอบของจาน 45 องศาก็เลยหันไปใช้จานหมุนที่มีขนาดเล็กลงไปอีกแทน ซึ่งก็คือจาน 22:30 องศานั่นเอง
.
ในกรณีนี้ หมายความว่า เหตุการณ์สำคัญ(ถ้ามี)ในตอนอายุ 23 ปีครึ่ง ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเหตุการณ์สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในช่วงอายุ 1 ปี
.

เรื่องวงรอบอายุนี้ถือว่าเป็นทฤษฎีพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่ง เพราะในขั้นสูงจะใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการตรวจสอบความถูกต้องของเวลากำเนิด (ใช้อดีตมาตรวจสอบความถูกต้องของปัจจุบัน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น