วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

จุดเริ่มต้นของยูเรเนียนในประเทศไทย


.
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าผู้เขียน (หมายถึงอ.จรัญ) เริ่มอ่านหลักวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียนเล่มแรกเมื่อปีพ.ศ 2502 การศึกษาในระยะแรกๆไม่สู้ได้ผลนัก คืออ่านแล้วไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ไม่อาจจะเข้าใจได้โดยตลอด เพราะหนังสือเล่มแรกที่ได้อ่านนั้นเป็นเพียงหนังสือแนะนำแสดงหลักวิชาบางอย่างโดยย่อ ไม่แจ่มแจ้ง จึงทำให้การติดตามขาดระยะไปพักหนึ่ง



ในการศึกษาตอนแรกๆ ผู้เขียนเองจับความสำคัญอย่างหนึ่งของโหราศาสตร์ระบบนี้คือ การหาศูนย์รังสีดาวด้วยการคำนวณจากแผ่นหมุน 90 องศา ได้นำมาใช้ในการอ่านดวง ในการทำนายก็รู้สึกว่าได้ผลดีแต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นที่พอใจ เพราะยังจับหลักต่างๆไม่ได้อย่างถูกต้องและละเอียดพอ จึงทำให้การติดต่อโหราระบบพิเศษนี้ขาดตอนไประยะหนึ่งดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
.
จนกระทั่งมาถึงปีพ.ศ 2509 ผู้เขียนได้พบกับพันเอก จง แปลกบรรจง ผู้ซึ่งได้อ่านโหราระบบนี้จาก”พยากรณ์สารของอินเดีย” และท่านผู้นี้ก็ได้เริ่มสนใจอยู่แล้ว เราทั้งสองจึงปรึกษาและเห็นชอบร่วมกันว่า โหราศาสตร์ระบบยูเรเนียนนี้น่าจะเรียกเป็นภาษาไทยว่า “โหรารังสีนิยม” ทั้งนี้ก็เพราะคำว่า “ยูเรเนียน” นั้นนอกจากจะหมายถึงรังสีแล้ว วิธีการต่างๆของระบบนี้ก็มีหลักสำคัญอยู่ว่าดูรังสีดาว และจุดกึ่งกลางระหว่างดาวก็คือ ศูนย์กลาง หรือศูนย์รังสีนั่นเอง
.
(หมายเหตุจากผู้เรียบเรียง - ที่ว่า “ยูเรเนียนนั้นนอกจากจะหมายถึงรังสี” นั้น เข้าใจว่าอ.จรัญน่าจะสับสนกับคำว่ายูเรเนียม ซึ่งเป็นแร่กัมมันตรังสี)
.
การศึกษาโหราศาสตร์ระบบยูเรเนียนคงก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ผู้เขียนได้สั่งตำราภาษาอังกฤษฉบับที่เรียกว่า “สูตรดาว” หรือตำราศูนย์รังสีเข้ามาทางอากาศเป็นเล่มแรกเมื่อปลายปีพ.ศ 2509 จากหนังสือเล่มนี้ได้ทำให้การศึกษาของเราก้าวหน้ายิ่งขึ้น ได้รับความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติม รู้วิธีหาศูนย์รังสีและการแปลความหมาย รู้สูตรดาวต่างๆทั้งหมด แต่การเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างนัก
.
จนกระทั่งหนังสือเล่มที่ 2 คือหลักวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียนตกเข้ามาใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2510 เมื่อได้ศึกษาอย่างละเอียดจึงทำให้เข้าถึงโหราระบบยูเรเนียมได้อีกมาก คือรู้วิธีอ่านพื้นดวงอย่างละเอียด รู้การทำนายจรบ้างแต่ยังไม่แจ่มแจ้งนัก และในระหว่างที่กำลังศึกษาค้นคว้า ผู้เขียนได้เริ่มเขียนเรื่องของยูเรเนียมลงในหนังสือ “พยากรณ์สาร” ฉบับเดือนพฤษภาคมปี 2510 โดยให้ชื่อว่า “วิวัฒนาการของโหราศาสตร์ในศตวรรษที่ 20” และได้เขียนลงในพยากรณ์สารอีกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนมากระทั่งปัจจุบันนี้ (มกราคมปี 2511)
.
นอกจากการเขียนลงในพยากรณ์สารแล้วผู้เขียนได้เขียนหลักวิชาบางอย่าง(พิมพ์ด้วยโรเนียว)พร้อมทั้งได้ทำแผ่นหมุนต่างๆออกเผยแพร่จำหน่าย(ราคาชุดละ 40 บาท) นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่วิชานี้ลงในหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” อีกทางหนึ่ง
.
สรุปแล้วก็กล่าวได้ว่า โหราศาสตร์ระบบใหม่นี้ได้มีชีวิตชีวาขึ้นในประเทศไทยในปี พ. ศ. 2510 นี้เอง ทั้งผู้เขียนและพันเอก จง แปลกบรรจง ได้ผลัดเปลี่ยนกันไปบรรยายโหราระบบนี้ที่สมาคมโหรแห่งประเทศไทยจึงนับว่าเป็นการเผยแพร่อีกทางหนึ่ง
.
.
เรียบเรียงจากหนังสือ - แนะนำโหรายูเรเนียน โดยอาจารย์จรัญ พิกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น