วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564

สุริยยาตร์และลาหิรี

อธิบายกันอย่างง่ายๆ "สุริยยาตร์" เป็นชื่อของคัมภีร์โบราณ เนื้อหาข้างในเป็นสูตรที่ใช้คำนวณปฏิทินโหราศาสตร์ที่โหรไทยเราใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ (แน่นอนว่าเรารับมาจากอินเดียอีกที) ปฏิทินโหรที่คำนวนตามหลักการในคัมภีร์นี้มักถูกเรียกว่า ปฏิทินสุริยยาตร์ 

ส่วน "ลาหิรี" (Lahiri) เป็นชื่อของปฏิทินโหราศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในวงการโหราศาสตร์มากที่สุดระบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการสังคยนาปฏิทินใหม่โดยมีรัฐบาลอินเดียเป็นเจ้าภาพ โดยชื่อลาหิรีเป็นชื่อของนักคำนวนปฏิทินชาวอินเดียโต้โผสำคัญในการทำสังคยนาครั้งนี้

ทั้งสุริยยาตร์และลาหิรีล้วนเป็นปฏิทินในระบบนิรายนะ(ราศีคงที่)ทั้งสิ้น

ความจริงผลการคำนวนตำแหน่งดาวที่ได้จากสองอันนี้ก็ใกล้เคียงกัน แต่ความแตกต่างกันนั้นย่อมมีอยู่อย่างแน่นอน

เนื่องจากสุริยยาตร์เป็นคัมภีร์โบราณ มีมาเป็นพันๆปีแล้ว ในขณะที่ลาหิรีเพิ่งเกิดยุคหลังสมัยที่อังกฤษบุกไปยึดอินเดียเรียบร้อยไปนานโขแล้วนี้เอง ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ความสดใหม่ทางวิชาการทำให้ตำแหน่งดาวของลาหิรีมีความแม่นยำใกล้เคียงกับดาวจริงบนท้องฟ้ามากกว่า

แต่เดิมมา โหรไทยเราใช้สุริยยาตร์เป็นหลัก ต่อมาเริ่มมีโหรรุ่นใหม่นำเอาปฏิทินลาหิรีมาใช้ ด้วยเหตุผลว่ามันตรงกับดาวบนฟ้ามากกว่า

ตรงนี้ก็เริ่มจะเกิดเป็นดราม่ากันขึ้นมา เพราะมันแตกเป็นสองพวก ต่างก็ว่าวิธีการที่ตัวเองยึดถือดีแท้แน่นอนกว่าอีกวิธีการหนึ่ง .... ซึ่งเป็นธรรมดาของชาวโลก

ทีนี้มาถึงคำถามทองคำประจำวงการก็คือ อย่างไหนดีกว่ากัน? หรือความจริงก็คือกำลังถามว่าอย่างไหนแม่นกว่ากัน?

คำตอบแบบจริงจังก็คือ ความแม่นยำของปฏิทินแทบไม่ใช่ตัวชี้วัดสำคัญอะไรเลยสำหรับความแม่นยำของคำพยากรณ์ เพราะปรากฏว่าทั้งสองค่ายต่างก็มีครูบาอาจารย์ หรือโหราจารย์ฝีมือฉมังด้วยกันทั้งสิ้น และมีกันฝ่ายนึงก็ไม่ใช่น้อยคน

ทั้งสองแบบมันถูกเวลาทดสอบมาแล้วอย่างโชกโชนว่าล้วนใช้งานได้ดีทั้งสิ้น

สรุปง่ายๆ คือแม่นไม่แม่นเอาจริงๆ มันอยู่ที่คนล้วนๆ อันนี้พูดจริงไม่มุสา

ดังนั้นใครเรียนมาอย่างก็ควรใช้ไปอย่างนั้นเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าวิชาแก่กล้าสามารถจะทดลองไปใช้อีกระบบหนึ่งเป็นค้นคว้าเปรียบเทียบก็ย่อมไม่ผิดแต่ประการใด

🙂

ปล. ยูเรเนี่ยนใช้ปฏิทินสากล เช่นปฏิทินราฟาเอล หรือปฏิทินสวิต เป็นปฏิทินโหราศาสตร์ระบบสายนะ คนล่ะเรื่องกับนิรายนะอย่างสุริยยาตร์หรือลาหิรี เพราะการกั้นห้องแบ่งราศีขานตำแหน่งดาวห่างกันตั้งประมาณ 24 องศานิดๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น