ขึ้นชื่อว่าวิชาโหราศาสตร์ ไม่ว่าจะของชาติไหนสำนักไหนก็เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของท้องฟ้าและดวงดาวไปได้พ้น
แต่นักโหราศาสตร์ไม่ใช่นักดาราศาสตร์ เพราะนักโหราศาสตร์ไม่ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของดาวบนฟ้าด้วยกล้องดูดาว หากแต่ใช้ปฏิทินโหราศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจกับตำแหน่งของดวงดาวต่างๆ
ปฏิทินดาวเลยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการโหราศาสตร์
พูดถึงปฏิทินดาวแล้ว ก็ต้องกล่าวต่อไปอีกว่า ปฏิทินดาวที่เราใช้กันในวงการโหราศาสตร์ทุกวันนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระบบด้วยกัน ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้แยกขาดออกจากกัน เอามาใช้ปะปนกันไม่ได้เพราะตำแหน่งดาวต่างๆ มันจะไม่ตรงกัน
2 ระบบที่ว่านี้ก็คือ "นิรายะนะ"(นิ-รา-ยะ-นะ) กับ "สายนะ"(สา-ยะ-นะ) คิดว่าบางท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินในระบบ นิรายะนะ หรือ สายนะ ต่างก็แบ่งท้องฟ้า (ความจริงคือเส้นวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์) ออกเป็น 12 ส่วน โดยมีพื้นที่แต่ละส่วนเท่ากันคือ 30 องศา (รวม 12 ส่วนก็ครบ 360 องศาพอดี)
ซึ่งก็คือสิ่งที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเลยว่า 12 ราศี ซึ่งประกอบไปด้วย ราศี เมษ พฤษภ เมถุน กรกฏ สิงห์ กันย์ ตุล พิจิก ธนู มกร กุมภ์ และ มีน ดังที่น่าจะรู้จักกันดีโดยทั่วไป
ชื่อของราศีทั้ง 12 นี้มาจากชื่อของกลุ่มดาวฤกษ์ที่จะเห็นเป็นฉากด้านหลังเมื่อดวงอาทิตย์ค่อยๆโคจรเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ(จากการสังเกตของคนบนโลก) ซึ่งจะครบ 12 กลุ่มดาวเมื่อดวงอาทิตย์โคจรครบ 1 รอบ (ความจริงคือโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เนื่องจากเราสังเกตุอยู่บนโลกโดยมองไปที่ดวงอาทิตย์จึงว่าเป็นดวงอาทิตย์ต่างหากที่โคจรไป)
ก็เอาชื่อของกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 12 นั่นแหละมาสมมุติตั้งเป็นชื่อให้กับพื้นที่ทั้ง 12 ที่ได้สมมุติแบ่งเอาไว้ (ความจริงมีกลุ่มดาวที่ 13 ด้วยคือดาวคนแบกงู แต่ถูดตัดทิ้งออกไปเพราะมันยุ่งยากไม่ลงตัว)
จะ นิรายะนะ หรือ สายนะ ก็มี 12 ราศีเหมือนกัน
เวลาระบุตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าก็ใช้วิธีการบอกโดยอ้างอิงกับราศี(ที่เปรียบเสมือนการกั้นแบ่งห้องให้ท้องฟ้าเป็น 12 ห้อง)
เช่นขณะนี้วันที่ 06/01/2564 เวลา 21.49.00 ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งราศีมกร 16 องศา 30 ลิปดา 14 ฟิลิปดา
หมายความว่าขณะนี้ดวงอาทิตย์ได้วิ่งเข้ามาอยู่พื้นที่ราศีมกร โดยวิ่งเข้ามาแล้ว 6 องศา 30 ลิปดา 14 ฟิลิปดานับจากจุดเริ่มต้นของราศีมกร ถ้าวิ่งพ้นจากราศีมกรแล้วก็จะเข้าสู่พื้นที่ของราศีกุมภ์ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนถัดไป
จะ นิรายะนะ หรือ สายนะ ก็ใช้วิธีการระบุตำแหน่งดาวเช่นนี้เหมือนกันหมด
แล้วมันจะต่างกันตรงไหน?
คำตอบก็คือต่างกันตรงการกำหนดจุดเริ่มต้น(องศาที่ 0)ของราศีแรก ซึ่งก็คือราศีเมษ
โดยระบบ นิรายะนะ ใช้ตำแหน่งเวลาในวันที่ดวงอาทิตย์เล็งตรงเข้ากับกลุ่มดาวฤกษ์อัศวินีเป็นจุดเริ่มต้น 0 องศาราศีเมษ พอได้จุดเริ่มต้นมาแล้วก็ง่าย เพราะที่เหลือก็แค่วัดไปอีกส่วนละ 30 องศาจนครบเส้นรอบวงกลม(ครบรอบ 1 ปี)เท่านั้นเอง
วันซึ่งดวงอาทิตย์เล็งตรงเข้ากับกลุ่มดาวฤกษ์อัศวินีก็คือวันที่ 13 เมษา หรือก็คือวันสงกรานต์ที่เราสาดน้ำเล่นสบายใจกันนั่นเอง
และเนื่องจากโลกของเรานั่นเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับจักรวาลและกลุ่มดาวฤกษ์ทั้งหลาย ดังนั้นวันซึ่งดวงอาทิตย์เล็งตรงเข้ากับกลุ่มดาวฤกษ์อัศวินีนี้จึงคงที่ กี่ปีกี่ปีก็มาลงที่ 13 เมษาเหมือนเดิมตลอดไม่เคยเปลี่ยนแปลง
จึงเรียกระบบ นิรายนะ นี้ว่าระบบราศีคงที่
แต่ปรากฏว่าพอใช้ไปนานๆ ตำแหน่ง 0 องศาราศีเมษซึ่งควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิก็เริ่มคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับฤดูกาลที่เกิดขึ้นจริง (เนื่องจากเหตุผลทางกายภาพบางประการเช่นโลกค่อยๆโคจรช้าลงทุกปี เป็นต้น) จึงมีผู้ค้นวิธีการกำหนดจุด 0 องศาราศีเมษขึ้นมาใหม่
วิธีการที่ว่านี้ใช้ปรากฏการในเชิงฤดูกาลของดวงอาทิตย์ที่สำคัญ 4 ปรากฏการ มาเป็นตัวมาร์คตำแหน่งของเส้นวงรอบจักราศี
นั่นก็คือวันเหมายัน(กลางคืนสั้นที่สุด สิ้นสุดฤดูหนาว) วสันตวิษุวัต(กลางวันและกลางคืนเท่ากัน) ครีษมายัน(กลางวันนานที่สุด สิ้นสุดฤดูร้อน) และศารทวิษุวัต(กลางวันและกลางคืนเท่ากัน)
โดยกำหนดให้วันวสันตวิษุวัต คือตำแหน่ง 0 องศาราศีเมษ
(วันครีษมายันคือตำแหน่ง 0 องศาราศีกรกฏ วันศารทวิษุวัตคือตำแหน่ง 0 องศาราศีตุล และวันเหมายันคือตำแหน่ง 0 องศาราศีมกร)
วิธีการแบบนี้สอดคล้องกับฤดูกาลบนโลกมากกว่า ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยกี่พันปีก็ไม่มีการผิดเพี้ยนหรือคลาดเคลื่อนในเรื่องของฤดูกาล ก็เรียกระบบนี้ว่า ระบบสายนะ หรือระบบราศีเคลื่อนที่
เพราะปรากฏว่าจุด 0 องศาราศีเมษในระบบนี้ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกห่างจากจุด 0 องศาราศีเมษของระบบนิรายนะไปปีละนิดปีละหน่อย
แต่แรกเริ่มเดิมทีเมื่อหลายพันปีก่อน ปฏิทินระบบนิรายะนะและสายนะมีความความต่างกันน้อยมาก แทบจะใช้แทนกันได้ แต่พออยู่ไปนานๆ ค่าการคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นก็ค่อยๆ ทบทวีมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจุด 0 องศาราศีเมษของทั้ง 2 ระบบก็ห่างกันออกไปมาก
ค่าความห่างกันของทั้ง 2 ระบบนี้เรียกว่า "ค่าอายนางศ์" (อา-ยะ-นาง หรือ อา-ยะ-นาง-สะ)
ทุกวันนี้ค่าอายนางศ์สะสมจนอยู่ที่ประมาณ 24 องศา 3 ลิปดา (แล้วแต่สำนักคำนวน แต่โดยมากก็จะประมาณนี้)
นั่นหมายความว่าจุด 0 องศาราศีเมษของระบบนิรายนะและสายนะ ทุกวันนี้ห่างกันตั้ง 24 องศานิดๆ
ดังนั้นถ้าสมมุติว่าเราเปิดปฏิทินระบบนิรายะนะขึ้นมา แล้วพบว่าดาวอังคารอยู่ในตำแหน่ง 10 องศาราศีเมษ แต่ถ้าไปดูในปฏิทินระบบสายนะ จะพบว่าดาวอังคารจะไปอยู่ที่ 04 องศาราศีพฤษโน่นเลย
มันเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงใช้ปฏิทินข้ามระบบกันไม่ได้ สำนักหนึ่งว่าอยู่เมษแต่อีกสำนักว่าอยู่พฤษภ
เอามาใช้มั่วปนกัน ...เละแน่นอน
แต่ถ้าใครจะดันทุกรังใช้ข้ามระบบจริงๆ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเอาค่าอายนางศ์ไปบวกหรือลบก่อนเพื่อแปรให้เป็นอีกระบบหนึ่งซึ่งไม่สะดวกเอาเสียเลย
สำหรับโหราศาสตร์ทางภาคตะวันออกเช่นโหราศาสตร์ไทยหรืออินเดียจะใช้ปฏิทินระบบนิรายะนะเป็นหลัก(เช่นปฏิทินสุริยยาตร์ หรือปฏิทินลาหิรี) ส่วนโหราศาสตร์ทางภาคตะวันตกเช่นโหราศาสตร์สากลจะใช้ปฏิทินระบบสายนะ(เช่นปฏิทินราฟาเอล หรือปฏิทินสวิต)
ปิดท้ายด้วยคำถามทองคำว่าอะไรดีกว่ากัน ระบบไหนผิดระบบไหนถูก หรือก็คือระบบไหนแม่นกว่ากัน?
ก็ยังคงตอบแบบกำปั้นทุบดินเหมือนเดิมว่า "เรียนมาแบบไหนใช้แบบนั้นเถิดจะเกิดผล"
:)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น