วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ศุกร์เล็งพฤหัส (Venus Opposition Jupiter)



โดยหลักการพื้นฐาน โหราศาสตร์ยูเรเนียนมีทัศนคติเรื่องมุมสัมพันธ์ระหว่างดาวที่แตกต่างออกไปจากโหราศาสตร์สากลอย่างชัดเจน
.
โดยยูเรเนียนมองว่ามุมสัมพันธ์ระหว่างดาวทั้งหมดที่เกิดขึ้นแบบ “ไม่มีมุมดีหรือมุมร้าย” โดยมุมสัมพันธ์ทุกมุมนั้นถือว่าเหมือนกันหมด แต่อาจแตกต่างกันบ้างเรื่องความรุนแรงชัดเจนของผลลัพธ์ที่ได้เท่านั้น (เช่นกุมแรงกว่าเล็ง เล็งแรงกว่าฉาก เป็นต้น)
.
ส่วนผลดีร้ายนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดาวที่มาสัมพันธ์กัน
.
หลักการข้อนี้ทำให้ยูเรเนียมตัดความยุ่งยากในการใช้ความหมายของมุมเข้ามาผสมสร้างเป็นคำพยากรณ์ออกไปได้อีกมากโข เอาความหมายของดาวเข้ามาผสมกันแล้วก็แปลได้เลย

.
แต่ข้อเสียก็คือคำพยากรณ์นั้นกว้าง บางโครงสร้างสามารถมองได้ทั้งร้ายและดี จะตัดสินใจให้คำพยากรณ์ไปในทิศทางไหนจำเป็นต้องดูองค์ประกอบอื่นๆควบคู่ไปด้วยเสมอ (ยูเรเนี่ยนเป็นวิชาตรงไปตรงมาไม่ยุ่งยาก แต่ใช้จริงโคตรเครียด เพราะต้องทำตัวเหมือน FBI คอยสืบหาและปะติดปะต่าหลักฐานก่อนสรุปปิดคดี) และในหลายกรณีก็อาจจะต้องใช้เซ้นต์บ้างอะไรบ้าง
.
ซึ่งเรื่องนี้แตกต่างอย่างชัดเจนกับโหราศาสตร์สากลที่กำหนดให้แต่ละมุมมีความหมายเฉพาะของตนเอง
.
เมื่อมีปัจจัยมาทำมุมสัมพันธ์ถึงกัน นอกจากความหมายของปัจจัยมาผสมกันแล้วก็ยังจะต้องเอาความหมายของมุมสัมพันธ์เข้ามาร่วมผสมด้วย
.
ขอยกตัวอย่างเช่น “มุมเล็ง” (Opposition) 180 องศา
.
ตำราโหราศาสตร์สากลกำหนดให้มุมเล็ง (180 องศา) ทำให้เกิดคุณสมบัติของการเข้าปะทะกันระหว่างปัจจัยทั้งสอง(โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง) ทำให้มุมนี้พลังของดาวขาดเสถียรภาพ เกิดเป็นความขัดแย้งหรือต่อสู้กัน ถือว่าเป็นมุมลำบาก เป็นมุมท้าทาย อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆคือเป็นมุมให้โทษ
.
ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยมาทำมุมเล็งกันแล้ว แม้ว่าจะเป็นดาวดีกับดาวดีด้วยกัน ก็ถือว่าให้ผลลัพธ์ไปในทางร้าย
.
แต่อย่างไรก็ตาม ตำราโดยส่วนมากก็มักจะแทงกั๊กเอาไว้อีกที โดยบอกว่าหากรักษาสมดุลของปัจจัยทั้งสองได้ก็ย่อมทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามมาได้ด้วยเช่นกัน
.
สรุปกันง่ายๆก็คือให้ทายร้ายไว้ก่อน แต่ก็เปิดช่องให้พลิกกลับมาเป็นดีได้ด้วย
.
ขอยกตัวอย่างเช่น “ศุกร์เล็งพฤหัส” (Venus Opposition Jupiter)
.
ทั้งดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเป็นดาวที่ถือว่าดีทั้งคู่ (พฤหัสบดีมากส่วนศุกร์นั้นดีพอประมาณ) พอมาทำมุมถึงกันด้วยมุมเล็งแบบนี้แล้ว ตำราโหราศาสตร์สากล(ของฝรั่ง)ท่านให้ฝอยพยากรณ์เอาไว้ดังนี้

-----------------------------------------------

โครงสร้างนี้ (หมายถึงศุกร์เล็งพฤหัส) มีแนวโน้มสูงที่จะไปส่งเสริมการปล่อยเนื้อปล่อยตัว(หว่านเสน่ห์)มากเกินไป แต่มันก็บ่งบอกถึงความยินดีและความพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งในตัวคุณหากคุณรู้สึกว่ามันก็ไม่มากเกินไปจนก่อปัญหา
.
มันเป็นช่วงเวลาที่กิเลสในตัวจะพรุ่นพร่าน ความรู้สึกอยากออกไปสู่โลกกว้างแล้วทำอะไรอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งบางสิ่ง ใช้ชีวิตหรูๆ ทำตัวแพงๆ ซื้อของแพงๆแต่ไร้สาระ แต่งตัวเซ็กซี่ๆ หรือใช้ชีวิตให้สุดเหวี่ยงไปเลย แน่นอนว่าคุณจะไม่รู้สึกหรอกถึงแรงผลักดันจากความทะเยอทะยานและความปรารถนาที่จะเอาชนะโลกใบนี้ภายในตัวคุณเหล่านี้หรอก
.
มันเป็นช่วงเวลาที่ลืมความประหยัดไปได้เลย
.
และบางทีปัญหาที่แย่ที่สุดของช่วงเวลาที่เกิดโครงสร้างนี้ขึ้นก็คือ "การกิน" เพราะ VE JU แปลว่าของหวาน อาหารที่หนักๆ แคลสูงๆ ที่อุดมไปด้วยแป้งและหน้ำตาล มันอาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดสำหรับน้ำหนักของคุณ
.
แต่ก็นั่นแหละ คุณจะสนุกกับการทำมันและรู้สึกว่านี่มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรซักหน่อย
.
สำหรับในด้านบวก โครงสร้างนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่น่าพอใจได้ง่าย (หากโครงสร้างอื่นๆอำนวย) แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงต้องระวังการถูกครอบงำด้วยกิเลส สัมพันธ์ที่น่าพอใจที่ว่านี้อาจอยู่รูปแบบของการหลงไหลทรัพย์สมบัติหรือรูปแบบซึ่งเป็นเพียงเปลือกนอก
.
ดังนั้นหากคุณสามารถจัดการพลังงานของโครงสร้างนี้ด้วยปัญญาและวินัยที่เหมาะสม คุณจะพบว่ามันค่อนข้างสนุกและดี (ดีแบบโลกๆดีแบบโลกีวิสัย) สำหรับคุณเลยทีเดียว

-----------------------------------------------

สรุปง่ายๆ อีกทีว่าช่วงนี้จะเสียคนหน่อย ถ้าไม่เมาหัวราน้ำก็ใช้เงินมือเติบ บางคนเสียเนื้อเสียตัว เป็นคุณสมบัติพื้นฐาน(ในทางร้าย) ส่วนในทางดีมองว่าเป็นช่วงเวลาที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี อาจได้ประโยชน์จากตรงนี้พอสมควร(ถ้าควบคุมตัวเองได้ ไม่เสียคนไปเสียก่อน) ประมาณนี้
.
เราลองมาเปรียบเทียบกับคำแปลในคัมภีร์พระเคราะห์สนธิของยูเรเนียนกันบ้าง
.
VE=JU ท่านแปลว่า “การมีโชคในความรัก ความสนุกสนานจนลืมตน ช่างทอง” เขียนกันสั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้แหละ
.
เอาจริงๆ จะเห็นว่าไม่ต่างกันมากนัก คือมีทั้งดีและร้ายได้ทั้งสองอย่าง (โชคความรัก กับเสียคน) เพียงแต่ยูเรเนียนไม่ได้ฟันธงว่ามันควรจะเอียงไปทางไหน
.
และไม่ว่าศุกร์กับพฤหัสจะทำมุมสัมพันธ์กันด้วยมุมลักษณะใดก็ให้ใช้คำพยากรณ์พื้นฐานตามนี้เหมือนกันหมด ส่วนโหราศาสตร์สากลการที่ศุกร์กับพฤหัสมาทำมุมถึงกันด้วยมุมแบบอื่นๆ ก็ต้องว่ากันใหม่หมด
.
ผมเขียนมาถึงตรงนี้แล้วลองพลิกตำราไปดูคำพยากรณ์ของมุมอื่นๆ ในคู่ปัจจัยเดียวกันนี้ดูบ้าง
.
พูดตรงๆ มันก็ไม่หนีจากคำแปลในพระเคราะห์สนธิสักเท่าไหร่ ต่างกันตรงที่โหราศาสตร์สากลนั้นมีรายละเอียดเฉพาะมาก (แต่ก็วนๆอยู่ที่เดียวกันไม่ไปไหนกันใกลมาก) ส่วนคำแปลแบบพระเคราะห์สนธินั้นเขียนกันแบบกว้างๆ ให้เอาไปเติมรายละเอียดกันเอาเอง
.
จะเติมอะไรให้ไปดูเอาหน้างาน ต่างจากสากลที่กำหนดทิศทางมาแล้วด้วยความหมายของแต่ละมุม
.
พูดกันอย่างนักจิตวิทยา ยูเรเนี่ยนเลยแม่นง่ายกว่าเพราะมันเหลือพื้นที่ให้พลิกตัวได้มาก แต่ข้อเสียคือถ้าคนจับหลักไม่ได้ก็จบเหมือนกัน เหมือนยืนเหงาบนลานโล่งๆ ไม่รู้จะทำยังไงกับมันดี
.
ที่เขียนมายืดยาวตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าอันไหนมันดีกว่ากันนะครับ เปรียบเทียบให้ดูเฉยๆถึงความแตกต่างกันของระบบทั้ง 2
.
ในการพยากรณ์จริงนักดาราศาสตร์สากลบางคนก็ทำตัวคล้ายกับยูเรเนียน คือไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความหมายเฉพาะของมุม(เก็บพื้นที่ไว้สำหรับพลิกแพลงคำพยากรณ์) ในขณะที่นักยูเรเนียนบางคนก็ไปหยิบยืมเอาความหมายเฉพาะของมุมแบบโหราศาสตร์สากลมาใช้ร่วมในการพยากรณ์เพื่อให้เกิดทิศทางที่ชัดเจนขึ้น

มันไม่ได้มีกฎหมายห้ามหรอกครับ ดังนั้นก็แล้วแต่ใครจะเห็นว่าเหมาะสมเท่านั้นเอง ใช้แล้วรู้สึกว่าได้ผลดีก็ถือว่าดีทั้งนั้น

:)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น