วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ขนาด ระยะทาง และดาวเคราะห์น้อย


อ่านตำราของอาจารย์ โรเบิร์ต แฮนด์ แล้วเกิดเรื่องชวนคิดที่น่าสนใจเรื่องนึงก็คือ

บรรดาดาวต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในวิชาโหราศาสตร์นั้น ย่อมมีขนาด ความหนาแน่นของมวล รวมไปถึงระยะทางใกล้ใกลเมื่อวัดจากโลกที่แตกต่างกัน

คำถามก็คือ ขนาด ความหนาแน่น และระยะทาง ของดาวต่างๆ มีผลต่อ "กำลัง" ของผลคำพยากรณ์หรือไม่?

ยกตัวอย่างเช่นดาวพฤหัสกับดาวพลูโตก็แล้วกัน


ดาวพฤหัสนั้นเป็นดาวเคราะห์แก๊สทั้งลูก (ดาวหางวิ่งทะลุได้หน้าตาเฉยอ่ะคิดดู) มีเส้นผ่าศูนย์กลางตามแนวเส้นศูนย์สูตรประมาณ 142,984 กม.(อ้างอิงจาก wiki) โดยทั่วไปแล้วโหราศาสตร์กำหนดให้ดาวพฤหัสหมายถึงการขยายตัว หรือโชคลาภ

ส่วนดาวพลูโตนั้นเป็นดาวเคราะห์หิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยเพียง 2,374 กม. บวกลบอีกไม่เกิน 8 กม. (เล็กกว่าดวงจันทร์ของโลก) อีกทั้งยังห่างใกลจากโลกมากเสียจนส่องกล้องด้วยหอดูดาวยังมองแทบไม่เห็น

โดยทั่วไปแล้วโหราศาสตร์กำหนดให้ดาวพูลโตหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลักษณะทุบแล้วสร้างใหม่ หรือการทำซ้ำ

ความจริงพลูโตถูกปลดไปจากความเป็นดาวเคราะห์ เหลือสถาณะภาพเป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์แคระไปนานแล้ว แต่เรื่องโหราศาสตร์ก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้มากนัก ยังคงใช้ดาวพลูโตในการพยากรณ์ไม่ต่างจากดาวเคราะห์อื่นๆ ซึ่งโหราจารย์ทั่วโลกทั้งฝ่ายนิรายนะและสายนะต่างก็ยืนยันว่าพลูโตยังใช้การได้ดีสำหรับการพยากรณ์

คำถามคือสมมุติว่าถ้าให้เปรียบเทียบกันระหว่าง ดาวพฤหัสจรมากุมลัคนา กับ ดาวพลูโตมากุมลัคนา คิดว่าดาวยักษ์ใหญ่พฤหัสจะให้ “กำลัง” ผลลัพธ์ที่ “ชัดเจน” มากกว่าดาวแคระดวงจิ๋วอย่างพลูโตหรือไม่?

มันวัดยาก คงต้องตอบด้วยความรู้สึกกันล้วนๆ

ถ้าให้ตอบจากความรู้สึกและประสบการณ์ ก็คงตอบว่า ดาวพฤหัสทำให้โชคดีได้ขนาดไหนดาวพลูโตก็น่าจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงวุ่นวายได้ขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าใหญ่กว่าใกล้โลกกว่าจะแรงดีกว่าเสมอไปหรอก

และในทางตรงกันข้าม โอกาสที่มันจะเฟล คือดาวมาแต่เหตุการณ์ไม่เกิดก็สามารถเกิดขึ้นได้พอๆ กัน

โดยสรุปก็คือ “ขนาด” กับ “ระยะทาง” ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรสำหรับวิชาโหราศาสตร์

และทั้งหมดนี้นำจะไปสู่เรื่องของการนำเอา “ดาวเคราะห์น้อย” (Asteroids) มาใช้ในกระบวนการทางโหราศาสตร์

-----------------------------

ดาวเคราะห์น้อย หรือ Asteroids เป็นดาวดวงเล็กๆ ที่โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัส (สันนิษฐานว่าดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้เกิดจากการแตกตัว หรือเกิดจากการรวมตัวกันที่ไม่สมบูรณ์ของดาวเคราะห์ตั้งแต่ยุคแรกๆ ของระบบสุริยะ)

ตลอดเวลาที่ผ่านมานักดาราศาตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันสามารถนับรวมกันได้หลายพันดวงเลยทีเดียว

ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในแวดวงโหราศาสตร์ หรือความจริงคงต้องบอกว่าดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักหรือสนใจกันในหมู่นักโหราศาสตร์เลย จนกระทั่ง อีลีเนอร์ บาค (Eleanor Bach) ตีพิมพ์ปฏิทินดาวเคราะห์น้อยในปี 1973

และหลังจาค้นคว้ากันอยู่นาน ในที่สุดบาคก็เลือกดาวเคราะห์น้อยสี่ดวงแรกที่ถูกค้นพบเข้ามาใช้ในกิจการของโหราศาสตร์

นั่นก็คือ Ceres(ค้นพบในปี 1801), Pallas (ค้นพบในปี 1802), Juno (ค้นพบในปี1804) และ Vesta (ค้นพบในปี 1807)

Ceres นั้นมีขนาดใหญ่ที่สุด คือมีรัศมีประมาณ 467กม. ส่วนอีกสามดวงที่เหลือเล็กกว่า โดย Pallas มีรัศมีประมาณ 263กม. Juno มีรัศมีประมาณ 134กม. และ Vesta มีรัศมีประมาณ 255กม.

จะเห็นว่าแต่ละดวงมีขนาดเล็กมาก แม้แต่ Ceres ที่ใหญ่ที่สุดก็ยังมีรัศมีเพียงครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ของโลก

ความจริงยังมีดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกันหรือใหญ่กว่าทั้ง 4 ดวงนี้เช่น Hygiea, Davida, Interamnia หรือ Europa แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในกิจการของโหราศาสตร์สมัยใหม่

การหยิบเอาเคราะห์น้อยมาใช้นี้สร้างคุณูประการใหญ่หลวงแก่วงการโหราศาสตรสมัยใหม่ ได้พอๆ กับการสร้างปัญหาให้ชาวนักนิยมโหราศาสตร์ต้องมาขบคิดกันต่อ

นั่นก็เพราะว่าดาวเคราะห์น้อยทั้งหลายดูเหมือนจะเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่จะเข้ามาเติมเต็มให้กับดาวเคราะห์มาตรฐานที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณและมีปริมาณที่แสนจำกัดจำเขี่ย (ตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมาเราใช้ดาวเพียง 9 ดวงและจุดสมมุติอีกไม่กี่จุดในการอธิบายชีวิตที่แสนสลับซับซ้อนของผู้คนตลอดทั้งชีวิต) โดยไม่ต้องไปตะขิดตะขวงใจกับบรรดาดาวสมมุติ (Hypothetical Planets) ทั้งหลาย

อย่าลืมว่าในอวกาศนั้นมีดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากมายมหาศาลซึ่งน่าจะพอเพียงสำหรับทุกๆ เรื่องในชีวิตอย่างแน่นอน ไหนจะเทหวัตถุต่างๆ อีก

ขนาดและระยะทางก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคของการนำมาใช้ในเชิงโหราศาสตร์ด้วย ดังที่กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว

ลองนึกถึงวิชาโหราศาสตร์ในอนาคตที่มีการอ่านดวงชะตาว่า “ดวงทินวรรษปีนี้ อุกาบาต X-3R-2998 ในราศีกรกฏกำลังตรีโกณกับลัคน์เจ้าชะตาทำให้ปีนี้เจ้าชะตาบลาๆๆๆ ” แค่นี้ก็มันส์ชิบหายแล้ว -_-

แต่ปัญหาที่ตามก็คือสารพัดปัญหาที่ต้องการคำอธิบาย เช่น

  • เราจะเอาดาวเคราะห์น้อยดวงใดมาใช้บ้าง?
  • เราจะกำหนดความหมายที่เหมาะสมให้กับดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ได้อย่างไร?
  • ขอบเขตหรือจุดสิ้นสุดในการนำมาใช้มันจะไปอยุ่ที่ตรงไหน?
  • ดาวหรือเทหวัตถุเล็กๆ ที่มีเส้นวงโคจรแน่นอนแต่ขนาดเล็กเพียงแค่ไม่กี่กิโลจะสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่?
  • หรือจะสิ้นสุดกันเพียงแค่เคราะห์น้อยเพียงไม่กี่ดวงดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน?
  • แล้วทำไมดาวดวงเล็กดวงน้อยพวกนั้นมันถึงจะเอามาใช้ไม่ได้ล่ะ?
  • บลาๆๆๆๆ

ดูเหมือนว่ามันยังปัญหาอีกมามายที่โหราศาสตร์สมัยใหม่จะต้องค้นคว้าหาคำตอบอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น