วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

ดวงชะตาชาย ทะเลาะวิวาท ถูกแทงไส้ไหล

ดวงชะตาชาย เกิดจะซวยอย่างไรไม่ทราบเพราะไปทะเลาะวิวาทกับชาวบ้านจนถูกแทงไส้ไหล แหล่งต้นทางไม่ได้แจ้งว่าตายหรือเปล่า แต่เข้าใจเอาเองว่าน่าจะรอด

เหตุเกิดในวันทินวรรษพอดี อาทิตย์จรกุมอาทิตยฺกำเนิด ขาดเกินเวลาไปเพียงเล็กน้อย

กำลังนั่งคิดเล่นๆว่าไส้นี่มันอะไรดีวะ สงสัยจะราหู(NO)กระมัง เพราะยาวๆ เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างปากกับตูด

ลองดูในดวงชะตานี้ เราจะเห็นว่า SA,AD มันถึง NO พอดีเสียด้วย เฉพาะ SA,AD รวมกันท่านแปลว่า วิบากกรรม ความอดทน ตกอยู่ในภาวะลำบาก ส่วน NO นั้นเป็นจุดเจ้าชะตาจุดหนึ่ง ในกรณีจะทะลึ่งแปลว่าไส้ก็ได้กระมัง (อันนี้ผมเพ้อไปเรื่อยนะ อย่ามาเอาอะไรมาก)

จุด MC จร (แปลว่านาทีนั้น) ถึง UR (ความตึงเครียด ความฉับพลัน) ในดวงกำเนิดพอดี

ส่วน MA และ ME จรก็ถึง VU ในดวงกำเนิด โครงสร้างนี้แปลง่ายๆว่า ด่ากันแรงๆ

ที่จริงเราจะเห็น NE จรถึง ME กำเนิดด้วย(ใกล้อาทิตย์) โดยทั่วไป ME,ME นี้มันแปลว่าพูดจาเพ้อเจ้อ ความคิดเพ้อฝัน แต่จะแปลว่าเมาก็ได้

ลองตั้งแกน MA/UR (แปลว่าทะเลาะวิวาท) ในดวงจรดู จะพบว่าถึง JU, UR, ZE, KR ดูทรงน่าจะทะเลาะกับคนมีสี หรือมีอำนาจ หรือมีอายุมากกว่า การมีของ ZE นั้นน่ากลัว ไม่ถูกยิงก็บุญแล้ว ในกรณีนี้เปลี่ยนจากลูกกระสุนเป็นมีดปลายแหลมแทน

เฉพาะ JU นั้นน่าสนใจ เพราะเคยกล่าวประจำว่า JU เป็นดาวดีแต่ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางก็แย่เหมือนกัน เพราะ JU แปลว่ามาก หรือสำเร็จ (หรือจะมองอีกแง่หนึ่ง ด้วยอำนาจของ JU เลยช้วยให้มีโชค ไม่ตายคาที่ก็ได้กระมัง)

ที่สำคัญคือแกนทะเลาะวิวาทอะไรนี้ ถึง SU พอดีทั้งจรทั้งกำเนิดเพราะเกิดในวันทินวรรษพอดี

วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ราหูเข้าแทรก

 

ช่วงนี้เรื่องราหูย้ายนี่สงสัยจะอินเทรนด์ ไปไหนมาไหนมีแต่คนถามเรื่องราหู

วันก่อนรุ่นน้องคนนึงเล่าให้ฟังว่าหวิดๆ จะมีเรื่องตะลุมบอนกับคนจีนเจ้าถิ่นที่หน้าร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง ฟังแล้วก็แปลกใจเพราะปรกติก็แลดูเป็นคนใจเย็น ก็ไม่น่าจะมีเรื่องชกต่อยกับใครง่ายๆ โดยเฉพาะกับต้นเหตุจิ๊บจ๊อยประเภทเหม็นควันบุหรี่จนเขม่นกันอะไรอย่างนั้น

ฟังเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงคำของคนเก่าๆ ที่เคยได้ยินตอนเด็กๆ

คือท่านว่าคนเราเวลา “ราหูเข้า” (อาจจะหมายถึงราหูเสวยอายุ ราหูย้ายราศีเข้าเรือนสำคัญ ราหูทำมุมสัมพันธ์ถึงจุดเจ้าชะตา หรืออื่นๆ แล้วแต่บริบท) นั้น มักเกิดอารมณ์ชั่ววูบ ไม่โลภก็โกรธ ไม่โกรธก็หลง เกิดจะหน้ามืดตามัวขึ้นมา พอเป็นอย่างนี้จึงมักติดสินใจผิดพลาด อะไรไม่ควรทำก็ดันทำซะอย่างนั้น เรียกว่าอารมณ์มันก็แปรแปรวนวิกลไป

อาการอย่างนี้ท่านว่านี่แหละคนดวงตก ที่เคยใจเย็นเกิดมาไม่เคยมีเรื่องก็กลายเป็นใจ อารมณ์เสีย กลายเป็นคนขี้หงุดหงิดขึ้นมา ก็จะมีเรื่องหัวแตกเลือดสาดกันตอนนี้ ส่วนไอ้ที่เคยเป็นฉลาดคิดอะไรรอบคอบก็พาลกลายเป็นคนโง่ไป จึงมักเสียหายกับเรื่องง่ายๆ หรือเสียกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

คนเก่าท่านก็ว่าเป็นฤิทธิ์เดชของราหูตัวมัวเมา ทำให้เหมือนมีเมฆดำเข้ามาบังฟูบังตา อะไรทำนองอย่างนั้น

คนแต่ก่อนพอเป็นอย่างนี้ส่วนมากท่านก็เรียกมารดน้ำมนต์ธรณีสารล้างซวย อย่างดีก็ไล่ไปสมาทานศีล 5 ศีล 8 ปรับจูนสภาพอารมณ์ สงบสติอารมณ์ลงบ้าง

มาสมัยนี้กลายเป็นไปไหว้ขอโน่นขอนี่พระราหูกันโครมๆ

แต่มาคิดๆดูก็สมกับเป็นเรื่องของราหูตัวมัวเมาดี

วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ความเชื่อบางอย่างในหมู่นักพยากรณ์

มีเรื่องนึงอยากเขียนถึงมานานแล้ว ที่จริงก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับโหราศาสตร์โดยตรงเสียทีเดียว ดังนั้นใครไม่ชอบขอให้ข้ามๆไป

ก็คือความเชื่อบางอย่าง ที่มีกันมานานแล้วในหมู่นักพยากรณ์โดยเฉพาะคนที่ทำเป็นอาชีพ นั่นก็คือความเชื่อที่ว่า … “ถ้าไปดูดวงไขความทุกข์ให้กับคนอื่น ก็จะโดนเจ้ากรรมนายเวรของคนๆ นั้นตามมารังควานได้” 

ก็ทำนองว่าไปช่วยแก้เคราะห์กรรมให้คนอื่นเขาแล้วก็เลยทำให้เจ้ากรรมนายเวรไม่พอใจ เพราะตามทวงเวรกรรมจากตัวคู่กรรมของเขาไม่ได้ สุดท้ายก็เลยพาลมาลงกับตัวหมอดูแทนนี่แหละ สาระแนดีนัก หมอดูก็ซวยกันไป อะไรประมาณนั้น

ความเชื่ออย่างนี้ว่ากันตามตรงก็เป็นพิสูจน์ยาก แล้วแต่ใครจะเชื่อไปทางไหน มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เท่าที่สังเกตดูทั้งสองฝั่งก็มีมากพอกัน

คนที่เชื่ออย่างนี้ก็ยืนยันหนักแน่นว่าดูดวงช่วยเขาทีไรเป็นอันของเข้าตัว ลำบากตัวเองทุกที ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็ยืนยันหนักแน่นเหมือนกันว่าดูดวงมาเป็นพันดวงก็ไม่เห็นเป็นอะไรสักที ชีวิตยังสุขสบายดีมีความสุขความเจริญได้ตามอัตภาพ

จะเชื่อใครดี?

ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ “จริงทั่งคู่”

หลักจิตวิทยาสำคัญข้อหนึ่งกล่าวว่า “ความเชื่อคือความจริงสำรับทุกคน” และที่สำคัญคือ “ทุกคนล้วนมีความเชื่อเป็นของตนเอง” สรุปคือใครเชื่ออย่างไรชีวิตก็ย่อมต้องไปตามนั้น และคุณกับผมไม่จำเป็นต้องเชื่อเหมือนกัน ดังนั้นความจริงสำหรับแต่ละบุคคลจึงอาจเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน

ใครเชื่อว่าซวยก็ซวยไป ใครเชื่อว่าเฮงก็เฮงนั่นแหละ

เอากันง่ายๆ อย่างนี้เลย ไม่ต้องไปเสียเวลามาโต้เถียง พิสูจน์ หรอหาข้อยุติให้ยุ่งยาก

ดังนั้นตามหลักจิตวิทยาจึงไม่สนใจว่าใครจะเชื่อแบบใหน แต่จะสนใจตรงที่ว่า “เชื่อแล้วชีวิตได้อะไร?”

เชื่อว่าดูดวงแล้วของจะเข้าเจ้ากรรมนายเวรจะตามมาทวง หรือจะเชื่อว่าการดูดวงคือการบำเพ็ญกุศลเพราะได้ช่วยเหลือคน (ถ้าไม่คิดหลอกแดกคนอื่น) ยิ่งช่วยชีวิตจึงยิ่งเจริญ

เรื่องพวกนี้ไม่ต้องเสียเวลามาเถียงกัน เพราะใครเชื่ออย่างไรชีวิตย่อมเป็นจริงไปตามนั้น

แต่เชื่อแล้วยังไงต่อ สร้างสรรค์ต่อตนเองหรือไม่ อันนั้นแหละประเด็นที่แต่ละจะต้องถามตัวเอง


:) 


วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566

เรือนชะตาอาชีพ

 ในแง่ของเรือนชะตา เรือนชะตาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงาน โดยทั่วไปถือว่ามีอยู่ 2 เรือน คือเรือน 6 (อริ) กับเรือน 10 (กัมมะ)


เรือน 6 เป็นเรือนแห่งความยากลำบากในชีวิต คนเราขึ้นชื่อว่าทำงานประกอบเป็นอาชีพแล้ว ล้วนเจอปัญหาเจอความยากลำบากกันทุกคน มีใครสบายบ้าง?

ส่วนเรือน 10 เป็นเรือนแห่งเกียรติ ชื่อเสียง การได้รับการยอมรับจากสังคม ก็อย่างที่เขาว่านั่นแหละ คือคุณค่าของคนอยู่ผลของงาน

ทำงานอะไร ลำบากลำบนแค่ไหนจึงอาจบอกได้ด้วยเรือน 6 แต่จะสำเร็จอย่างไรรุ่งโรจน์มากแค่ไหน(หรือด้วยอะไร)อาจต้องไปดูที่เรือน 10

บางทีอาจรวมไปถึงเรือน 2 (กดุมพะ) ด้วยเพราะเป็นเรือนแห่งรายได้ รายรับ  ทรัพย์สินซึ่งเราเป็นผู้แสวงหามาเอง เพราะคนเราสมัยนี้ทำงานก็เพื่อเงิน เราอยู่ในโลกทุนนิยมต้องใช้รายรับเป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต ถ้าทำฟรีถึงจะทำแล้งรุ่งแค่ไหนคงไม่อาจเรียกว่าอาชีพได้

สรุปแล้วการทายว่าใครทำอาชีพอะไรไม่ใช่ของง่าย เพราะมีอะไรให้ต้องคอดเยอะไปหมด ยิ่งสมัยนี้อาชีพแปลกๆ เยอะก็ยิ่งทายยาก ทายเป็นแนวกว้างๆ ก็อาจพอไหวแต่ให้ทายเฉพาะเจาะจงคงลำบากเพราะบางอาชีพพูดไปจะหาคนรู้จักยังแทบจะไม่มี

ทำอาชีพอะไรจึงทายยาก แต่ควรจะไปทำอาชีพอะไรก็อาจจะทายกันง่ายกว่า

อาชีพที่กำลังทำอยู่นี้เหมาะแหล้วหรือไม่? หรือถ้าไม่พอใจจนอย่างจะเปลี่ยนก็ควรต้องเปลี่ยนไปทางไหน? ทายกันอะไรแบบนี้ดูเหมือนจะได้ประโยชน์กว่า


:) 


วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ราหูเหนือใต้

เป็นเรื่องธรรมดา หากแต่ละสำนักจะกำหนดนิยามความหมายของแต่ละปัจจัยที่แตกต่างกันออกไปบ้าง (มองกันคนล่ะจุดบ้าง) เช่นจุดราหู (North Node) นี้ สำนักยูเรเนี่ยนให้ความหมายหลักเอาไว้ว่า ความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้อง พันธะ หรือความรู้สึกผูกพัน ซึ่งเป็นความหมายกลายๆ ไม่ร้ายไม่ดี แต่แต่ว่าจะไปอยู่เรือนไหนหรือทำมุมสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ อะไรบ้าง

ในโหราศาสตร์ไทยนั้นโดยมากให้ความหมายของราหูไปในทางร้าย เช่นความลุ่มหลงมัวเมา โมหะจริต หรือจิตใจฝ่ายต่ำ อะไรทำนองอย่างนั้นเพราะอาจจะไปจับเทวะตำนานที่ว่าราหูเป็นอสูร โดยอาจารย์หลายท่านได้ให้ความเห็นว่าความจริงแล้ความหมายเหล่านี้ก็คือเรื่องของพันธะ หรือความรู้สึกผูกพัน เช่นกันเพียงแต่เป็นไปในลักษณะที่สุดโต่ง ไร้การควบคุม

ในวิชาโหราศาสตร์สากลบางสำนัก ให้นิยามจุดราหู (North Node) นี้ว่า “ความมุ่งมาดปรารถนาในชาตินี้” คือหมายความว่าใครเกิดแล้วใช้ชีวิตดิ้นรนเข้าไปหาสิ่งใดเรื่องอะไรก็ให้พิจารณากันที่จุดราหูนี้

เช่นราหูอยู่เรือน 2 ก็ดิ้นรนแสวงหาทรัพย์ หรือถ้าราหูอยู่เรือน 3 ก็ดิ้นรนแสวงหาการพบปะ(ยอมรับ)จากผู้คนรอบตัว อะไรทำนองอย่างนี้ นอกจากนี้ก็อาจจะพิจารณาต่อไปอีกว่าแล้วจุดราหูนี้ไปทำมุมสัมพันธ์กับดาวอะไรอีกบ้าง ก็แปลความเป็นคำพยากรณ์กันไปตามเหมาะสม

เมื่อพูดถึงราหูที่หมายถึงจุด North Node แล้วก็ควรกล่าวถึงจุดตรงข้ามของมันด้วย นั่นก็คือเกตุสากล (South Node) ซึ่งมักถูกกำหนดความหมายให้เป็นเรื่องของนามธรรมหรือเรื่องในอดีต เช่นในกรณีนี้เมื่อ ราหู (North Node) หมายถึง ความมุ่งมาดปรารถนาในชาตินี้ ดังนั้นเกตุสากล (South Node) จึงถูกกำหนดให้เป็นภาวะตรงข้าม คือหมายถึงประสบการณ์จากอดีตชาติอันทำให้เจ้าชะตารู้สึกเต็มอิ่ม เฉยชา หรือปล่อยวาง ต่อเรื่องนั้นๆ

สังเกตว่า ราหู (North Node) คือเรื่องอนาคต ส่วนเกตุสากล (South Node) คืออดีต ราหูคือความปรารถนา ในขณะที่เกตุสากลคือความเต็มอิ่มเสียจนรู้สึกว่าฉันพอต่อสิ่งเหล่านี้แล้วจึงไม่ปรารถนาต่อสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป เป็นภาวะซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน

จะเห็นว่าใช้คำว่า “เกตุสากล” เพราะคือคนล่ะอย่างกับเกตุไทยที่ใช้ในวิชาโหราศาสตร์ไทย(ซึ่งมีผู้รู้ท่านสันนิษฐานว่าคือดาวหาง) ดังนั้นบางแห่งจึงตัดปัญหาเรียกเป็น ราหูเหนือ-ราหูใต้ แยกออกจากเกตุโดยเด็ดขาดเพื่อไม่ให้ต้องสับสนกันอีก

:) 


วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

องคลาภ (Part of Fortune)

จุด "องคลาภ" (Part of Fortune) โดยทั่วไปก็มีอยู่ด้วยกัน 2 สูตรนะครับ คือ SU+AS-MO สำหรับคนเกิดกลางคืน และ AS+MO-SU สำหรับคนเกิดกลางวัน

สังเกตว่าใช้วัตถุดิบชุดเดียวกันแต่ต่างกันตรงที่วิธีการปรุงเท่านั้น

ความหมายโดยทั่วไปขององคลาภก็คือ "โชคช่วย" คือใครอยากรู้ว่าโชคดีของตัวเองอยู่ตรงใหน ทำอะไรแล้วจะมีโชคดีช่วยก็ให้พิจารนาในดวงชะตากำเนิดว่าจุดองคลาภนี้อยู่เรือนไหน มีดาวอะไรมาทำมุม ก็สามารถเอามาตีความหมายสร้างเป็นคำพยากรณ์ขึ้นมาได้

มีอาจารย์บางท่านเคยให้ความเห็นว่า จุดองคลาภนี้ที่จริงเป็นการรวมพลังกันของจุดเจ้าชะตาถึง 3 จุด ดังนั้นความหมายในทางมนุษย์นิยมขององคลาภก็คือความถนัด หรือพรสวรรค์ ของแต่ละคนนั่นเอง

ความถนัดอยู่ที่ไหน หากรู้จักเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็ย่อมก่อให้เกิดโชค หรือก็คือความสุขความเจริญ

:)

วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ดวงโปรเกรส


คำว่า “โปรเกรส” (Progress) นั้นแปลกันตรงๆ ว่า ความคืบหน้า ความเจริญ หรือความก้าวหน้า ดังนั้น “ดวงโปรเกรส” ก็คือดวงชะตากำเนิดที่มีความคืบหน้า ก้าวหน้าไปตามอายุขัยของเจ้าชะตา

สรุปก็คือดวงกำเนิดนั่นแหละ แต่เอามาผ่านกรรมวิธีอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการพยากรณ์ โดยเฉพาะการพยากรณ์ตามอายุไข

ความจริงมันมีวิธีการโปรเกรสดวงได้หลายวิธีการ ดวงโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc) ที่นิยมใช้ในแวดวงนักโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยนนั่นก็คือการโปรเกรสดวงแบบหนึ่ง (หมุนดวงกำเนิดไปประมาณ 1 องศาต่ออายุขัย 1 ปี)

ส่วนในแวดวงนักโหราศาสตร์สากลนั้น โดยมากจะใช้วิธีการโปรเกรสดวงแบบที่เรียกว่า Secondary Progressions

คำว่า Secondary นั้นแปลว่า “รอง” หรือ “สำรอง” หรือ “ตัวเลือกสำดับที่2” นั่นก็เพราะว่าก่อนหน้าที่จะมีการโปรเกรสดวงแบบนี้มันเคยวิธีการที่เรียกว่า Primary Progressions มาก่อน แต่เป็นวิธีการที่ยุ่งยากและนิยมกันว่าไม่ค่อยได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจนัก เลยมาจบลงที่การใช้ Secondary Progressions เป็นวิธีการหลักแทน ซึ่งก็ใช้กันจนมาถึงทุกวันนี้

หลักการโปรเกรสดวงแบบ Secondary Progressions นั้น อาศัยหลักการเทียบอายุขัย 1 ปีเท่ากับวันจร 1 วัน

คือใครมีอายุขัยปัจจุบันเท่าไหร่ ก็แปลงอายุเป็นวัน แล้วบวกเพิ่มเข้าไปในดวงกำเนิดก็จะได้ดวง Secondary Progressions ขึ้นมา

เช่นคนเกิดวันที่ 1 เมษายน 2520 ถ้าเขามีอายุ 15 ปีเต็ม ก็จะเอา 15 วัน(แปลงปีเป็นวัน)บวกเพิ่มเข้าไป ก็คือวันที่ 16 เมษายน 2520 ก็จะตำแหน่งดาวของวันที่ 16 เมษานี้แหละมาเป็นดวงชะตา Secondary Progressions โดยใช้สำหรับอ่านเรื่องราวในชีวิตของเจ้าชะตาเมื่อเขามีอายุขัย 15 ปี 

ในกรณีที่อายุขัยมีเศษเดือนวัน ก็จะต้องมีการคำนวณเพื่อทอนเวลาส่วนเกินนั้นเป็นชั่วโมงนาที ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก โดยมักจึงมักคำนวณ Secondary Progressions จากอายุเต็ม แต่พอมาถึงสมัยนี้ใช้โปรแกรมช่วยคำนวณดวงชะตา กระบวนการพวกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป 

สำหรับการอ่านดวง Secondary Progressions นั้นจะใช้วิธีการอ่านโดยเทียบกับดวงกำเนิด

แต่ดวงชะตาแบบ Secondary Progressions ก็ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของมัน นั่นก็คือบรรดาดาวเดินช้าต่างๆ จะขยับน้อยมากโดยเฉพาะในช่วงอายุน้อยๆ จะมีก็แต่ดาวเดินเร็วเท่านั้นที่ให้ผลความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

เช่นในภาพตัวอย่างนี้ เป็นดวงชะตาแบบจาน 360 องศา โดยวงด้านใน(สีฟ้า)เป็นดวงกำเนิด ในขณะที่วงด้านนอก(สีชมพู)เป็นดวง Secondary Progressions

จากภาพนี้เจ้าชะตาอายุขัย 22 ปี 11 เดือน โปรแกรมก็คำนวณวันจรสำหรับผูกเป็นดวง Secondary Progressions โดยเพิ่มเข้าไปอีก 23 วันกว่าๆ 

ก็จะเห็นว่ามีดาวย้ายตำแหน่งไม่มากนัก โดยมากมันเป็นดาวเดินเร็ว เช่นดวงจันทร์ ศุกร์ หรืออังคาร ส่วนดาวอื่นๆ โดยเฉพาะดาวเดินช้าทั้งหลาย(ตั้งแต่พฤหัสออกไป)จรเคลื่อนตำแหน่งไปน้อยมาก (ยิ่งดาวทรานเนปจูนนั้นไม่ต้องพูดถึงเลย)

อะไรแบบนี้คงทำให้นักโหราศาสตร์รุ่นหลังๆ มารู้สึกอึดอัดใจได้พอสมควร เพราะไม่ค่อยสอดคล้องกับชีวิตคนสมัยใหม่ที่รอบเร็ว ไปเร็ว มาเร็ว ก็คงเป็นเหตุผลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สำนักยูเรเนี่ยนพัฒนาระบบโค้งสุริยยาตร์ (Solar Arc) เข้ามาแทนที่


:)


วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ครบรอบอายุขัย

คนเราเวลาอายุประมาณ 44-46 ปี โค้งอายุขัยจะครบรอบในจาน 45 องศา (หรือครึ่งรอบในจาน 90) 

มันเป็นช่วงเวลาที่ดาวจรโค้งกลับมาตรงกับดาวในดวงกำเนิด (ในจาน 45) 

จึงอุปมาเหมือนดั่งย้อนกลับไปเป็นทารกเกิดใหม่


เกิดใหม่รอบนี้ .... ลองมองย้อนกลับไป 

มีอะไรที่เคยผิดพลาดไปแล้วยากแก้ไขให้ดีกว่าเดิมบ้างมั๊ย?


หรือถ้ามองในแง่ของจาน 90 องศา ... นี่ก็ครึ่งอายุขัยเข้าไปแล้ว 

ยังมีอะไรที่อยากทำ หรือต้องทำ แล้วยังไม่ได้ลงมือทำอีกหรือไม่?

วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

1องศาเท่ากับอายุขัย1ปี


กฏการเปรียบเทียบ "1องศาเท่ากับอายุขัย1ปี" นั้นเป็นอะไรที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เข้าใจกันได้ไม่ยาก

อายุขัยทุกๆ 1 ปี จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าค่าโค้งสุริยยาตร์ประมาณ 1 องศา ค่าโค้งฯที่ว่านี้จะผลักดันให้ดาวดวงชะตากำเนิดจรเคลื่อนที่ตามไป เกิดเป็นดวงโค้งฯซึ่งก็คือดวงกำเนิดที่จรเคลื่อนที่ไปประมาณ 1 องศา

ดาวA ห่างจากดาวB กี่องศา วัดแล้วแปลงเทียบเป็นปีโดยประมาณได้เลยไม่ยุ่งยากอะไร (แม้จะยังไม่ละเอียดแม่นยำนักแต่ถือว่าใช้งานได้)

เช่นดวงชะตานี้ ดวงชะตาเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) จามประวัติว่าอายุประมาณ 20-22 ก็เกิดไต่เต้าทางยศตำแหน่งอย่างรวดเร็ว อายุเพียง 22 ก็ได้เป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ จางวางมหาดเล็ก ถือศักดินา ๓๐๐๐

พออายุ 31 ก็พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยารามราฆพ 

ลองดูในดวงชะตาท่าน (ในจาน 90 องศา) จะเห็นอาทิตย์กำเนิดอยู่ห่างพฤหัสกำเนิดประมาณ 20.5 องศา และอยู่ห่างจากอโพลอนกำเนิดประมาณ 31 องศา

ก็คือดาวอาทิตย์ในดวงโค้งนั้นจะจรมาเจอเข้ากับพฤหัสกำเนิดตอนช่วงอายุประมาณ 20 ปีเศษ และก็จะจรเคลื่อนเข้าไปเจอกับอโพลอนกำเนิดตอนช่วงอายุประมาณ 31 ปี

ก็สอดเห็นจะสอดคล้องไปกันได้ดีกับลีลาชีวิตของเจ้าชะตาอยู่ไม่น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าฮาเดสก็รออยู่ตรงประมาณ 45 องศา อายุขัยประมาณ 45 ปี (ครึ่งรอบดาวมฤตยูโดยประมาณพอดี) ก็คือช่วงประมาณปี 2478 ซึ่งเริ่มจะเป็นขาลงของเจ้าชะตาแล้ว (โปรดสังเกตดาวในดวงกำเนิดซึ่งขวางรออยู่เบื้องหน้า)

:)

 

วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ตั้งแกนที่ศูนย์รังสี (จาน 2 ชั้น)

การตั้งแกนที่ศูนย์รังสีในดวงแบบจาน 2 ชั้น มีขั้นตอนที่มากขึ้นนิดหน่อยแต่ถ้าฝึกจนคุ้นเคยก็จะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร

อันดับแรกก็คืออาดาววงในไปชนกับดาววงนอกตามคู่ศูนย์รังสีที่เราต้องการ เช่นต้องการตั้งแกนที่ศูนย์รังสี AP/HA ก็เอาดาว AP วงนอกไปชน HA วงใน

ถึงตอนนี้เราจะได้จุดศูนย์รังสีขึ้นมา 2 ในดวงชะตา คือ AP วงนอกชน HA วงใน และ AP วงในชน HA วงนอก

และสุดท้าย เราจะเอาจุดดัชนี (จุด 0 องศา) ของจานหมุนไปชี้ที่จุดกึ่งกลางของศูนย์รังสีทั้งคู่นี้ ก็เป็นอันจบสิ้นการทำงาน

ส่วนการอ่านมุมสัมพันธ์ดาวเดี่ยว ศูนย์รังสี หรือจุดอิทธิพลอื่นๆ ก็เช่นเดียวกับที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว


:)

วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

จาน 2 ชั้น

 

สำหรับดวงชะตาแบบจานสองนั้น โดยเบื้องต้นขอให้จำง่ายๆ ว่า

 "ดาวจริงวงนอก ดาวสะท้อนอยู่วงใน"

เวลาอ่านจานสองชั้น ถ้าชักจะงงให้ถอยมาตั้งหลักที่ตรงนี้ก่อน

ส่วนดาวสะท้อนของทั้งวงนอกและวงใน(สะท้อนของวงในก็คือดาวจริง) ซึ่งมักเขียนด้วยสีแดงๆ ถ้าไม่อยากงงก็อย่างเพิ่มเติมลงไป เดี๋ยวจะงงซะก่อน

ส่วนคนที่ชำนาญแล้วก็จัดไปตามที่สะดวกได้เลย

ตั้งแกนคำถามในจาน2ชั้น (ปัจจัยเดี่ยว)

ในจาน 2 ชั้น การตั้งแกนคำถามที่ดาวเดี่ยวสามารถทำได้ง่ายๆ โดย "เลื่อนดาวบนมาชนดาวล่าง(ดาวเดียวกัน) แล้วค่อยเลื่อนจานหมุนมาชี้ซ้ำอีกที"

เช่นในภาพนี้ ชี้แกนไปที่ SU ก็เอา SU บนกับล่างมาทับกัน เอาจุดดัชนีของจานหมุนมาชี้ซ้ำเป็นอันเสร็จสิ้นวิธีการ

  • แกน = ดาวเดี่ยว อ่านแค่วงนอกก็ได้ ไม่ต่างจากจานชั้นเดียว (ในตัวอย่างนี้จะเห็น SU = KR)
  • แกน = ศูนย์รังสี ก็ดูว่ามีดาวบนกับดาวล่างมาจับคู่ตรงไหนบ้าง ตรงไหนจับเป็นคู่ ก็คือศูนย์รังสีของดาวคู่นั้นกำลังทำมุมถึงแกน (อย่าลืมเผื่อระยะวังกะด้วย)

เช่นในตัวอย่างนี้ จะเห็นชัดๆคือคู่ของ HA(บน) กับ AS(ล่าง) ก็คือ AS/HA ทำมุมถึงแกน

ME/SA, JU/SA, SA/PL, ME/UR, JU/UR, PL/UR, MO/AD, MC/MO, ZE/PO, NE/PO, VE/ZE, VE/NE ก็ล้วนทำมุมถึงแกนทั้งสิ้น

:)

การอ่านจาน 2 ชั้น (Double Layer Dial)

ดวงชะตาจาน 2 ชั้น (Double Layer Dial) หรือจานจรัญนั้น ถ้าใช้ดูพื้นชะตาหรือดวงจรโค้งอายุแล้ว ถือว่าเป็นของวิเศษในวงการโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยนกันเลยทีเดียว

เช่นในภาพดวงชะตานี้ ตั้วดวงด้วยจาน 2 ชั้น (90 องศา) โดยตั้งแกนคำถาม(วางเบ็ดตกปลา)ไปที่ UR/AP ซึ่งแปลว่า “โหราศาสตร์”

โดยเบื้องต้นเราจะเห็น UR/AP = NO=VE=PO นอกจากนั้นยังถึง -A ในมุมเล็ก และ -KR ในมุมอ่อน

หากกวาดสายตาไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะทางซ้ายหรือทางขวาของแกน เห็นดาววงนอกตรงกับดาววงในที่จุดใด นั่นหมายถึงศูนย์รังสีของดาวนั่นที่กำลังทำมุมถึงแกน

เช่นในภาพดวงชะตานี้จะเห็นชัดๆ ก็คือ SAนอก=VUใน และ ASนอก=SUใน

หมายความว่า SA/VU และ AS/SU นั้นทำมุมถึงแกน UR/AP แล้วแน่ๆ ส่วนคู่อื่นๆ ก็พิจารณากันต่อไปตามค่าวังกะ (ค่าวังกะยิ่งมากดาววงในกับวงนอกยิ่งห่างกัน)

สมมุติอยากรู้ว่าจุด UR+AP-JU (โชคจากโหราศาสตร์) อยู่ตรงไหนของดวงชะตาก็ดูที่ JU ของดวงวงใน อยู่ตรงไหน UR+AP-JU ก็อยู่ตรงนั้นแหละ (เพราะตอนนี้แกนอยู่ที่ UR/AP ส่วนดาววงในก็คือดาวสะท้อนจากแกน)

เราก็มาร์คตำแหน่งนี้เอาไว้ แล้วลองวัดดูว่าจากตำแหน่งนี้ (UR+AP-JU) ไปถึงจุด AR(การรับรู้ของโลก) หรือจุดเจ้าชะตาอื่นๆ นั้นได้กี่องศา

ก็คือจำนวนปีโดยโดยประมาณที่จะเกิดสมการ A+B-C=D เช่นสมมุติว่าวัดแล้วอยู่ห่างกับ AR ประมาณ 73 องศา ก็คือประมาณอายุ 73 ปีก็จะเกิดสมการ UR+AP-JUr = ARv1 ขึ้นในชีวิต 

สำหรับสมการ A/B=C นั้นไม่ยาก เพราะได้จุด UR/AP (A/B) มาแล้วก็เพียงแต่มองหา C บนดวงวงนอก เจอดาวอะไรห่างกันกี่องศาก็แปลงเป็นอายุโค้งได้เลย

เช่นจาก UR/AP จะเห็นว่าห่างจาก JU อยู่ 35 องศา ก็คือ UR/APv1 = JUr เมื่ออายุประมาณ 35 ปี 

หรือจะวัดจากดาวมาหาศูนย์รังสีก็ได้ เช่นวัดจาก SU มาถึงจุด UR/AP นี้ได้ประมาณ 19 องศา ก็คือ UR/APr = SUv1 เมื่ออายุประมาณ 19 ปี 

ดวงชะตานี้เจ้าชะตาปัจจุบันอายุประมาณ 46 ปี ก็คือประมาณ 46 องศาเราดูที่ตำแหน่ง 46 องศายังไม่เจออะไร (แต่ฝั่งตรงข้ามก็มี NO, VE, PO เล็งอยู่) แต่พอประมาณ 48 องศาหรืออายุประมาณ 48 ก็จะเจอกับ KR กลายเป็นสมการ UR/APv1 = KRr ขึ้นมา

เช่นนี้เป็นต้น


:)  


วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566

โค้งอายุขัย

โหราศาสตร์ยูเรเนี่ยนนั้นนำเอาอายุขัยของมนุษย์มาเปรียบเป็นเส้นโค้งทางโคจรของดวงดาว โดยเฉพาะดาวอาทิตย์ โดยเปรียบเวลา 1 ปีอายุขัยเท่ากับประมาณ 1 องศาของเส้นโค้ง (อาจขาดเกินบ้างเล็กน้อยแล้วแต่ค่าคำนวณปลีกย่อย)

อายุขัย 30 ปีก็ประมาณ 30 องศา หรือ 60 ปีก็ประมาณ 60 องศา

เช่นตัวผมนี้อายุขัยในขณะนี้ 46 ปี 2 เดือน 25 วัน คำนวณค่าโค้งอายุขัยออกมาโดยละเอียดก็จะได้ 45 องศา 13 ลิปดา 07 พิลิปดา

สมมุติคนๆหนึ่ง เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิตขึ้น(ไม่ว่าจะดีหรือร้าย)เมื่อขณะที่เขาอายุได้ 32 ปี เพื่อความไม่ยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจเราอาจตีว่าค่าโค้งอายุขัยของเขาในขณะนั้นคือ 32 องศาก็ได้

นั่นหมายความว่ามีโอกาสสูงทีเดียวที่เหตุการณ์สำคัญในทำนองเดียวกันนี้ (เปรียบเทียบว่าเหมือนกันได้ทางปรัชญาโหราศาสตร์) จะเคยเกิดขึ้นในชีวิตมาก่อนแล้วเมื่อเขามีค่าโค้งอายุขัยได้ 16 องศา (อายุประมาณ 16 ปี)

เพราะ 16 องศาคือครึ่งหนึ่งของ 32 ถ้าเอา 32 องศามาม้วนเป็นวงกลม จุด 16 องศาก็จะเป็นมุมเล็ง (180 องศา) พอดี

ทั้งอาจนี้อาจรวมไปถึงเมื่อค่าโค้งอายุได้ 8 หรือ 24 องศาด้วย เพราะถ้าเอาไปเทียบกับ 1 รอบวงกลมก็จะได้มุม 90 และ 270 องศา หรือก็คือมุมฉากนั่นเอง

จากแนวคิดเรื่องโค้งอายุนี้ ทำให้เราอาจประเมิณต่อไปได้อีกว่า 

เมื่อเจ้าชะตามีค่าโค้งอายุเท่ากับ  48 และ 64 องศา โอกาสที่จะเกิดเรื่องสำคัญในทำนองเดียวกันนี้ ก็มีสูงมากเลยทีเดียว


:) 

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566

วงรอบดาวเสาร์


ดาวเสาร์นั้นโหราศาสตร์ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นตัวแทนความความทุกข์ ความยากลำบาก ความพลัดพราก จนมีคนกล่าวอย่างบ่อยๆ ว่าถ้าอยากดูความซวยของคนให้ไปเริ่มที่ดาวเสาร์

ดาวเสาร์นั้นโคจรรอบจักรราศีใช้เวลา 10759.23 วัน หรือคิดเป็น 29.46 ปี หรืออาจสรุปโดยรวบรัดว่า 30 ปีก็พอได้

สมมุติว่าในชีวิตคนเรามีเหตุการณ์ร้ายแรงบางอย่างเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งดาวเสาร์ จะด้วยมุมหรือโครงสร้างใดก็ช่าง หมายความว่าอีก 30 ปีข้างหน้าก็มีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันขึ้นในชีวิตได้อีก รวมไปถึงเมื่อ 30 ปีก่อนก็มีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้

นั่นก็เพราะว่าดาวเสาร์มันจะเดินทางครบ 1 รอบพอดี

ไม่ว่าเสาร์จะให้โทษที่จุดไหนของดวงชะตาก็ช่าง แต่มันวนกลับมาให้โทษซ้ำได้อีกเมื่อครบ 30 ปี

นี่ก็คือแนวคิดง่ายๆ ของเรื่องวงรอบดาวเสาร์ ความจริงวงรอบดาวอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน และแนวคิดทำนองนี้ก็จะขยายไปสู่เรื่องของวงรอบโค้งสุริยยาตร์ได้อีก

นอกจากรอบ 30 ปีแล้ว ครึ่งรอบ 15 ปีก็ย่อมส่งผลด้วยเพราะเป็นมุมเล็ง(180 องศา)ของจุดครบรอบ รวมไปถึง 7.5 ปี และ 22.5 ปีด้วย เพราะเป็นมุมฉาก(45 องศา)ของจุดครบรอบ

:) 



วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566

อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 4.5)

วงกลมแต่ละวงที่เห็นอยู่ในแผนผัง Tree of Life ก็คือ Sefirot คำนี้มาจากภาษาฮิบรู หมายถึง  “สิ่งที่ส่งผ่านออกมา” หรือ “สิ่งที่ถูกเปิดเผยออกมา”  หรือก็คือสิ่งที่พระเจ้าทรงเผยออกมาสู่มนุษย์ โดยในแผนผังจะมีอยู่ด้วยกัน 10 Sefirot เป็นตัวแทนของ 10 สภาวะธรรม 

ระหว่าง Sefirot จะเห็นเส้นเชื่อมต่อกันไปมา อุปมาเหมือนถนนที่เชื่อมต่อเมืองแต่ละเมืองเข้าด้วยกัน 

การเปลี่ยนแปลงระหว่างสภาวะ (Sefirot) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินทางผ่านเส้นทางเหล่านี้ไปตามลำดับ จะเดินลัดเดินข้ามกันตามอำเภอใจนั้นหาได้ไม่ 

เช่นจากตำแหน่ง Kether (ถือกำเนิด) ซึ่งอยู่บนสุดหากจะเลื่อนไหลลงมาก็เป็นไปได้อยู่สามทาง นั่นก็คือถ้าไปทางขวาก็จะเป็น Chockmah (บิดา เหตุผล) หรือถ้าไปทางซ้ายก็จะเป็น Binah (มารดา อารมณ์) หรือไม่ก็อาจพุ่งลงมาด้านล่าง กลายเป็น Tiphareth อันเป็นตำแหน่งของพระบุตร (ความเสียสละ อ่อนน้อม สมดุล)

แต่จาก Kether (ถือกำเนิด) อยู่ดีๆ จะเกิดบรรลุอะไรสักอย่างแล้วทะลึ่งไปโผล่ที่ Yesod (สะสม กักตุน) หรือ Malkuth (สมบูรณ์ อาณาจักร) อะไรพวกนี้ในทันดีมันไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันข้ามขั้นตอน เหมือนลูกนกยังไม่ทันจะได้ออกจากฟองไข่ก็จะบินเสียแล้วอย่างนั้นหรือ?

ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางผ่านถนนและเมืองต่างๆ ไปตามขั้นตอน แต่จะเดินไปหน้าหรือถอยหลัง จะลัดตรงหรือจะเดินอ้อมกันขนาดไหนนั่น นั่นเป็นอีกเรื่องนึง

ขณะนี้เรากำลังอยู่ที่ตรงไหน? เรากำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน? และจะต้องเดินทางผ่านอะไรบ้าง? 

สาระสำคัญของเรื่อง Tree of Life ที่จริงก็อยู่ที่ตรงนี้


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 4)

ในคัมภีร์ปทมังท่านว่า “ปถมัง กาละลังโหติ” อ.คึกฤิทธิ์ ท่านให้ความหมายในทำนองว่า “ในเบื้องต้นนั้นมีแต่เพียงหนึ่ง” ก่อนจะเป็นหนึ่งนั้นเป็นความว่างมาก่อน เมื่อความว่างสัมผัสเข้ากับอวิชชา (คือความไม่รู้ว่าตัวไม่รู้) จึงปรุงแต่งจนกลายเป็น 1 และจาก 1 นี้เองจึงค่อยแตกแยกออกเป็น 2 เป็น 4 เป็น 8 เรื่อยไปจนกลายเป็นสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมา จะอยู่ดีๆ แล้วโผล่ขึ้นมาเป็นสิ่งต่างๆ นั้นหาได้ไม่

ส่วนในคัมภีร์ของศาสนาเต๋าท่านว่า สรรพสิ่งต่างๆล้วนเกิดจากความ “ว่าง” (อู๋จี๋) และจากความว่างนี้จึงค่อยกลายเป็นความ “เต็ม” โดยในเบื้องต้นนั้นความเต็มยังคงสมดุล(ไท่จี๋) จนกระทั่งเมื่อเสียภาวะสมดุลไปจึงเกิดการแบ่งแยกเป็นอิน เป็นหยาง เป็นความมืดความสว่าง เป็นความอ่อนความแข็ง เป็นความดีความเลว เป็นทวิสภาวะต่างๆ

และไม่ว่าจะพุทธหรือเต๋าสุดท้ายแล้วปลายทางของทุกสรรพสิ่งคือการกลับคืนสู่ 1 คืนสู่ความว่างอันเป็นประถมของทั้งปวง (แต่จะกลับคืนได้ตอนไหนยังไงนั่นอีกเรื่อง)

ใน Tree of Life สรรพสิ่งย่อมบังเกิดโดยพระประสงค์ใน Kether เมื่อแรกเกิดจึงยังบริสุทธิ์ ไร้มลทิน เป็นสิ่งที่คล้ายนามธรรม มีอยู่แต่ก็มิอาจบรรยายได้โดยง่ายว่าสิ่งนี้คืออะไร (ทำนองเดียวกับศาสนาเต๋าที่บอกว่า เต๋านั้นอธิบายไม่ได้ เพราะถ้าหากอธิบายได้ก็จะสูญเสียความเป็นเต๋าไป)

จาก Kether นี้เองจึงค่อยแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นๆ เดินทางผจญภัยไปตาม Sefirot ต่างๆ ดุจนักเดินทางที่ออกผจญภัยไปตามเมืองต่างๆ ฉะนั้น

ที่เสา Mercy เราจะเห็นอยู่ 3 สภาวะ คือ Chockmah (ภูมิปัญญา ความฉลาด ความเป็นบิดา) Chesed (ความเมตตาปราณี ปกป้องคุ้มครอง) และ Netzach (ชัยชนะ ความสวยงาม ความมีเสน่ห์)

ส่วนที่เสา Severity จะเห็นอยู่ 3 สภาวะ คือ Binah (ความเข้าใจ ความรัก ความเป็นมารดา) Geburah (ความแข็งแกร่ง อดทน พลังแห่งการทำลาย) และ Hod (ไหวพริบ เล่ห์เหลี่ยม การติดต่อสื่อสาร)

ทั้งเสา Mercy และ Severity เป็นภาวะตรงข้ามกัน (เป็นอินเป็นหยาง)

Chockmah (ปัญญา) เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับ Binah (อารมณ์)

Chesed (เมตตา) เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับ Geburah (ทำลาย)

Netzach (เสน่ห์) เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับ Hod (ไหวพริบ)

ในชั่วแต่ละลมหายใจ สภาวะจิตของท่านได้ท่องเที่ยวไปยังที่แห่งใดกันล่ะ?

ที่เสาทั้ง 2 นี้ เมื่อมาวิเคราะห์ดูให้ดีก็จะพบว่า มันได้ถูกไล่เรียงจากความเป็นนามธรรมไปสู่ความเป็นรูปธรรม (จากบนลงล่าง) ยิ่งออกห่างจาก Kether (สวรรค์) มากเท่าไหร่ก็สูญเสียความโลกุตระ และยิ่งเข้าใกล้ Malkuth (โลก) มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความเป็นโลกียะมากยิ่งขึ้น

ในภาพแผนผัง Tree of Life เราจะเห็นว่าทั้ง Chockmah (ปัญญา) Binah (อารมณ์) Chesed (เมตตา) Geburah (ทำลาย) Netzach (เสน่ห์) และ Hod (ไหวพริบ) ล้วนมีเส้นโยงไปถึง Tiphareth อันเป็นตำแหน่งของจิตแห่งพระเจ้า  

นั่นเพราะ ปัญญา ความรัก ความเมตตา ความแข็งแกร่งอดทน ความมีเสน่ห์เป็นรัก และความมีไหวพริบ ล้วนเป็นคุณสมบัติสำคัญของความเป็น Tiphareth ทั้งสิ้น

ข้อนี้ที่จริงรวมไปถึง Kether (บริสุทธิ์ ไร้มลทิน) และ Yesod (เก็บรักษา เก็บสะสม) ด้วย

หากการเดินทางผ่านเสา Mercy หรือ Severity ไม่สามารถพาตัวเองให้ไปสู่ Tiphareth ได้ (กลับไป Kether นั้นไม่ต้องพูดถึง) สุดท้ายมันก็จะอ้อมไปหา Yesod (คลัง การเก็บสะสม ความต้องการต่างๆ) อันจะนำไปสู่ Malkuth (ความสุขแบบโลกๆ) อันเป็นจุดหมายปลายทางในท้ายที่สุด

เป็นความสุข ความสมบูรณ์ แต่ก็เป็นสุขสมบูรณ์แบบโลกๆ ยังห่างใกลจากภาวะแห่งพระเจ้านัก

การจะกลับคืนสู้ Tiphareth น่ะหรือ?

ก็ต้องละ Malkuth (ความสุขแบบโลกๆ) และ Yesod (การเก็บสะสม) ให้ได้ก่อน จากนั้นจะพุ่งตรงไปที่ Tiphareth หรือไปเดินอ้อมในเสา Mercy หรือ Severity ก่อนแล้วค่อยกลับเข้าไปที่ Tiphareth ก็ไม่ว่ากัน

ศาสนิกชาวคริสต์นั้น ใช้การรับเชื่อพระเยซูเป็นบานประตูเพื่อกลับคืนสู่สรวงสวรรค์ ดังจะเห็นว่า Tiphareth นั้นมีเส้นซึ่งเชื่อมตรงที่เป็นเหมือนลิฟท์อวกาศพุ่งตรงขึ้นสู่ Kether 

ความจริงแล้วการจะกลับคืน Kether โดยไม่ผ่าน Tiphareth ก็ย่อมสามารถทำได้ (ท่านลองไปลากเส้นเดิมอ้อมดู) แต่แลดูเหมือนว่าจะเป็นเส้นทางที่อ้อมค้อมและยุ่งยากอยู่ไม่น้อย 

การนำพาสภาวะจิตมายัง Tiphareth (พระบุตร) แล้วพุ่งตรงขึ้นสู่ Kether (พระบิดา) จึงดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีการที่ง่าย และน่าสนใจมากกว่า และเป็นวิธีการที่ศาสนิกชาวคริสต์เลือกใช้ในการเดินทาง 


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 3.5)

เขียนเวิ้นเว้อถึง Tree of Life ไปหลายตอนถึงเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่ามีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ลืมเขียนถึงไป นั่นก็คือถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีการเขียนถึงพระเยซูคริสต์หรือพระยาห์เวห์อยู่โดยตลอด แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องของ Tree of Life นี้เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับศาสนาคริสต์(แท้ๆ)อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน

การยกอ่างถึงพระเยซูคริสต์หรือพระยาห์เวห์มาอธิบายในเรื่องของ Tree of Life นี้ ความจริงเป็นเรื่องของการ “ยืม” มาอธิบาย เพื่อให้สามารถเข้าใจได้โดยง่ายก็เพียงเท่านั้น 

หรือถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ถ้าเราเอาเรื่องพวกนี้ไปคุยกับบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลสักท่าน (รวมไปถึงพระรับบีในศาสนายูดาห์ของชาวยิวแท้ๆ) ถึงท่านจะไม่ได้ว่ากล่าวอะไรแต่เชื่อเถอะในใจนั้นคงคิดว่า ไอ้หมอนี่มันนอกรีตชะมัด เอาอะไรมาพูดกันเป็นตุเป็นตะ จับแพะชนแกะปนมั่วกันไปหมด 

Tree of Life นั้นเป็นปรัชญาโบราณของชาวยิว เชื่อกันว่าน่าจะมีมาก่อนการอุบัติขึ้นของศาสนาคริสต์ โดยสาระสำคัญ Tree of Life เป็นเรื่องของสภาวะธรรมทางจิต ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะทำความเข้าใจ การหาอะไรสักอย่างที่คนคุ้นเคยมาเป็นตัวเปรียบเทียบจึงเป็นวิธีการที่ดีในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ 

(ทำนองเดียวกับที่ชาวพุทธอธิบายเรื่องของจิตโดยอาศัยแผนภาพปฏิจจสมุปบาท หรือชาวศาสนาต้าว (เต๋า/เต้า) อธิบายพลวัตทางธรรมชาติด้วยแผนภูมิไท่จี๋)

ถ้าไม่นับคนยิวแท้ๆแล้ว คนกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มสนใจศึกษาค้นคว้าและอธิบายเรื่องของ Tree of Life ก็ไม่พ้นฝรั่ง และเป็นธรรมดาของฝรั่งที่ย่อมคุ้นเคยกับศาสนาคริสต์มาเป็นอย่างดี อีกทั้งศาสนาคริสต์เองก็มีรากลึกเกี่ยวพันอยู่กับวัฒนธรรมยิวอยู่อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นการยกยืมเอาเรื่องราวในคริสต์ศาสนามาเป็นตัวอธิบายจึงเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมในตัวของมันเองตามธรรมชาติ 

ดังนั้นนั้นโดยสรุปแล้ว Tree of Life จึงไม่ใช่คำสอนของศาสนาคริสต์แน่ๆ และเรื่องราวของศาสนาคริสต์ที่ปรากฏอยู่ในคำอธิบายของ Tree of Life ก็เป็นไปในลักษณะของการยืมมาอธิบายดังที่ได้กล่าวไปแล้ว 

เรื่องนี้ความจริงรวมไปถึงภาคที่มีการเชื่อมโยงไปหาศาสตร์การพยากรณ์ต่างๆไม่ว่าจะไพ่ทาโร่หรือโหราศาสตร์ด้วย เป็นการเชื่อมโยงและอธิบายเพิ่มเติมกันเข้าไปในภายหลัง หาใช่สาระสำคัญอันเป็นเนื้อแท้ของเรื่องนี้ไม่ 

เมื่อเข้าใจเป็นพื้นฐานตรงกันดังนี้แล้ว … ก็ลุยต่อกันโลด


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 3)

ศาสนิกชาวคริสต์ไม่ได้นับถือพระเยซูในฐานะของศาสดาแต่เพียงอย่างเดียว หากได้ยังนับถือพระเยซูในฐานะของ “พระเจ้า” เสียเลยทีเดียวอีกด้วย เพราะแท้จริงแล้วทั้งพระเยซูและพระยาห์เวห์ คือหนึ่งเดียวกัน 

หากบอกว่าพระยาเวห์คือพระเจ้าบนสรวงสวรรค์แล้ว พระเยซูก็คือพระเจ้าซึ่งมาปรากฏกายบนโลกมนุษย์ 

สำหรับเรื่องนี้ถ้าเราไปเอาแนวคิดเรื่อง “อวตาร” ของศาสนาฮินดู (สนาตนธรรม) มาเปรียบเทียบอธิบายก็คงเข้าใจกันได้ไม่ยากนัก ต่างกันตรงที่อวตารของฮินดูนั้นแม้จะมีต้นกำเนิดมาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่ก็ไม่ได้ถือว่าอวตารนั้นเป็นพระผู้เป็นเจ้าเองเสียทีเดียว

ดังเช่นตอนหนึ่งในเรื่องมหาภารตะ ที่พระพลราม (บัลราม) ตำหนิพระกฤษณะ (ที่ไปยุให้ภีมะเล่นนอกเกมโดยเอาคฑาไปตีสะโพกทุรโยธน์ในการประลองซึ่งถือว่าเสียเกียรติเป็นอย่างมาก) ​ว่า “เราขอตำหนิท่านในการกระทำที่น่าอัปยศอดสูนี้ เพราะถึงแม้นท่านจะเป็นองค์อวตารของพระวิษณุเจ้า แต่บัดนี้ท่านก็คือกฤษณะน้องของเรา”

ส่วนทางคริสเตียนนั้นยังคงถือว่าพระเยซูกับพระยาห์เวห์เป็นหนึ่งเดียวกันแยกออกจากกันมิได้ เช่นถ้าใครตำหนิพระเยซูนั่นก็หมายถึงว่าเขากำลังตำหนิพระยาห์เวห์โดยตรงกันเลยทีเดียว 

เรื่องนี้มีเกร็ดเล่ากันสนุกๆ ว่าครั้งหนึ่งในงานสังคายนาแห่งหนึ่งเคยมีนักบวชท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นโต้แย้งในเรื่องนี้ โดยเสนอความเห็นว่าพระเยซูกับพระยาห์เวห์นั้นควรเป็นคนละสิ่งกัน แยกขาดออกจากกัน ทันใดนั้นเซนต์นิโคลัสหรือที่พวกเรารู้จักกันดีในนามของซานตาคลอสนั่นแหละ ถึงกับหัวร้อนลุกขึ้นมาตกปากคนพูดกันเลยทีเดียว เพราะถือว่าพูดกันอย่างนี้เป็นการลบหลู่มาก 

ดังนั้นพระเยซูจึงอยู่ในฐานะพระเจ้าผู้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ 

ถ้าเราพิจารณาที่เสาต้นกลาง (เสาแห่ง Mildness) เราจะพบกับสภาวะ Tiphareth (ความกลมกลืน ความเสียสละ) สถิตอยู่กลางเสา ที่ตำแหน่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำแหน่งของพระเจ้า คำว่าพระเจ้าในที่นี้ก็คือพระเยซูนั่นแหละ

สูงขึ้นไปจะเป็นสภาวะ Kether หรือมงกุฏแห่งกษัตริย์  ส่วนเบื้องล่างสุดปลายทางนั้นเป็นสภาวะ Malkuth หรือความมั่งคั่ง มั่นคง อาณาจักร โดยมี Yesod หรือ ยุ้งฉาง การเก็บสะสม ขั้นกลางเอาไว้อีกทีระหว่าง Malkuth กับ Tiphareth

หาก Tiphareth เปรียบดั่งพระเยซู สูงขึ้นไปคือ Kether ก็คือพระยาห์เวห์หรือสรวงสวรรค์ ส่วน Malkuth ด้านล่างก็คือโลกมนุษย์ Tiphareth จึงเป็นจุดที่มาบรรจบกันระหว่างสวรรค์และโลก

ในความเชื่อของชาวคริสต์ ทุกสรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้นตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า Kether ซึ่งเป็นสภาวะแห่งการก่อกำเนิด จึงเป็นตัวแทนโดยตรงของพระพระยาห์เวห์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นตัวแทนของพระประสงค์

เมื่อสรรพสิ่งเกิดขึ้นล้วนบริสุทธิ์ เฉกเช่นเดียวกับเด็กทารกที่ยังมิรู้จักดีชั่ว Kether จึงเป็นตัวแทนของการก่อกำเนิด ความบริสุทธิ์ไร้มลทิน เป็นสภาวะแห่งนามธรรมซึ่งมนุษย์กิเลสหนาอย่างพวกเราเข้าใจได้ยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้มีอยู่จริง และได้เกิดขึ้นมาแล้ว

Kether จึงเป็นสภาวะแรก เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งหมด ก่อนที่จะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะอื่นต่อไป จาก Kether จะกลายเป็น Chockmah (หยาง) หรือ Binah (หยิน) ก็ได้ หรือจะมุ่งตรงมายัง Tiphareth (ไทจี๋/สมดุลย์) เลยก็ได้

ตรงข้ามกับ Kether โดยสิ้นเชิงก็คือ Malkuth เพราะ Malkuth เป็นภาวะแห่งรูปธรรมโดยแท้ จับต้องได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ถึงการมีอยู่อย่างชัดเจน เป็นจุดสิ้นสุด เป็นความเต็มเปี่ยมที่ไม่สามารถเอาอะไรเติมเข้าไปได้อีกแล้ว 

ถ้า Kether คือเรื่องโลกุตตระ Malkuth ก็คงเป็นเรื่องทางโลกียะแท้ๆ 

สำหรับ Yesod นั้นอยู่ตรงกลางระหว่าง Tiphareth กับ Malkuth โดย Yesod เป็นสภาวะของการเก็บสะสม กักตุน เปรียบได้ดั่งยุ้งฉางหรือคลังมหาสมบัติ ถ้าจะพูดหรืออธิบายกันอย่างแรงๆ อาจจะบอกว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า “กิเลส” คงจะพอได้ (แม้จะไม่ถูกต้องนะแต่ก็น่าจะช่วยทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น)

หาก Tiphareth ร่วงหล่นลงมาแล้วมาพบเข้ากับ Yesod ก็จะเสียความเป็นสภาวะแห่งพระเจ้าไป โดยมุ่งหน้าตรงไปสู่ Malkuth โลกแห่งวัตถุ ถ้า Yesod เก็บสะสมได้มากพอท้ายที่สุดมันก็จะกลายเป็นความมั่งคั่งหรือ Malkuth นั่นเอง

แต่ถ้า Tiphareth เกิดเบื่อหน่ายทางโลก หนีจากข้างล่างกลับขึ้นไปข้างบนท้ายที่สุดก็ย่อมกลับคืนสู่ภาวะต้นกำเนิด หรือกลับคืนสู่สรวงสวรรค์อันเป็นที่สถิตของพระบิดานั่นเอง 


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 2)

บางทีชีวิตผมอาจจะมีบุญสัมพันธ์บางอย่างกับศาสนาคริสต์ก็ได้กระมัง ตอนเป็นเด็กก็โตมาในโรงพยาบาลมิชชันนารี เพราะร่างกายเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ  ตามประสามนุษย์เนปจูนอยู่เรือน 8 นอนให้น้ำเกลืออยู่บนเตียงก็อ่านไบเบิลแก้เซ็งวนๆไป ต่อมามีเมีย เมียก็เป็นคริสเตียนอีก

ที่จริงทุกวันนี้เวลามีคนถามผมว่าผมนับถือศาสนาอะไร บางทีก็อ้ำอึ้งตอบไม่ถูกเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าสำหรับเรื่องพวกนี้ตัวเองคงเป็นประเภทได้หมดถ้าสดชื่น แต่ถ้าให้อยู่ในกรอบในร่องในรอยอย่างเคร่งครัดกับอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะแล้วไม่ว่าศาสนาอะไรก็คงเป็นศาสนิกที่ดีไม่ได้ เพราะมักคิดอะไรนอกลู่นอกทางจากที่เขาสอนๆ เชื่อๆ กัน 

นี่ก็ตามประสามนุษย์ดาวพุธถึงพฤหัสและพลูโตอีก 

สมัยเด็กๆ เคยได้ยินที่ศาสนิกชาวคริสต์เขาสอนว่า “ถ้าเขาตบแก้มซ้ายท่าน ก็ให้ยื่นแก้มขวาให้เขาตบอีกสักที” อะไรทำนองอย่างนี้ สมัยเด็กๆฟังแล้วรู้สึกว่าอีหยังวะ มึงจะยอมให้มันตบทำไมเยอะแยะ โดนตบไปทีเดียวก็น่าจะแย่พอแล้ว 

แต่พออยู่ไปนานๆ เริ่มกร้านโลก พอรู้จักอะไรๆ ในโลกมากขึ้นจึงเข้าใจว่าคำสอนนี้ที่จริงเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง

ถ้าเขาตบแก้มซ้ายเรา เราจะทำอย่างไร?

ทางเลือกแรกคือก็อาจจะเราโมโห ถึงโมโหมาก โมโหจนควันออกหู แล้วคิดว่ามึงตบกูได้กูก็จะตบมึงคืน เอาให้อ๊วกแตก จัดหนักเป็น 10 เท่า 100 เท่า เอาให้สาแก่ใจสาแก่ความแค้น 

ถ้ามารูปนี้สภาวะจิตของเราคือกำลังไหลอยู่ในฝั่งของเสาทางซ้าย เป็นเสาแห่ง Severity (ความรุนแรง) 

เป็นสภาวะจิตด้านที่แข็งแกร่ง ก้าวร้าว ดุดัน รุนแรง เต็มเปี่ยวไปด้วยอัตตา เป็นภาวะที่เป็นหยางแบบสุดๆ สว่างไสว ร้อนแรง สภาวะอย่างนี้อาจจะสรุปง่ายๆ ว่าเป็นภาวะที่แข็งกระด้างเกินไป มึงตบมากูก็ตบกลับ ตบกันไปตบกันมาสุดท้ายลงลากปืนมายิง แล้วก็คงตายกันไปข้าง 

แต่ถ้าโดนตบแล้วอาจจะรู้สึกหวาดกลัว ยอมแพ้ ยอบสิโรราบ สอนเสียเปรียบ ยอมเป็นผู้ให้แต่ฝ่ายเดียว เป็นผู้ยอมรับในโชคชะตาอย่างไม่มีเงื่อนไข ในกรณีนี้ก็อาจจะร้องไห้ฟูมฟาย หรืออาจจะวิ่งหนี หรือบางทีอาจจะยืนอยู่นิ่งๆ ให้เขาตบๆๆๆอีกจนหนำใจ 

แต่ก็เป็นการยอมให้ตบแบบผู้แพ้ ผู้หวาดกลัว ไร้สิ้นพละกำลังจนไม่กล้าหืออือหรือทำอะไรตอบโต้ (ก็เป็นคนล่ะเรื่องก็การยื่นแก้มขวาให้ตบแบบที่อยู่ในคำสอน)

ถ้ามาในรูปนี้ นี่ก็คือสภาวะจิตที่กำลังไหลอยู่ในฝั่งของเสาทางขวา เป็นแห่ง Mercy (ความเมตตา) เป็นสภาวะจิตด้านที่อ่อนโยน นุ่มนวล เป็นพลังฝ่ายหยิน ฟังดูดีก็จริงแต่ถ้ามากไปก็อาจจะเป็นความอ่อนแอขึ้นมาได้ 

สรุปว่าไปทางเสาซ้ายก็มากเกินไป ตึงเกินไปจนพร้อมจะขาดได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าไปทางเสาขวามากเกินไปก็หย่อนเกิน หย่อนยานจนใช้การอะไรไม่ได้

ส่วนเสาตรงกลางที่เรียกว่าเสาแห่ง Mildness (ความอ่อนโยน) เป็นภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง Mercy และ Severity 

การผสมผสานนี้เกิดจากการนำเอาจุดเด่นหรือข้อดีของทั้งสองฝ่ายเข้ามารวมไว้ด้วยกัน (เอาจุดเด่นมาผสมกันเหมือนยูเรเนี่ยนผสมดาวนั่นแหละ ไม่ได้เอาข้อดีกับข้อด้อยเข้ามาหักล้างกัน) สภาวะของเสานี้ที่จริงแล้วจึงมีพลังอำนาจในตัวของมันเอง เพราะเอาพลังงานที่สร้างสรรค์ของจากสองขั้วเข้ามาไว้ด้วยกัน 

ถ้าฉันโดนตบแก้มซ้าย ฉันไม่โกรธเธอ แต่ฉันก็จะไม่วิ่งหนีหรือหวาดกลัวเธอด้วย ถ้าเธออยากตบฉันก็จงตบฉันให้พอใจ แล้วฉันจะสวมกอดเธอด้วยความรัก 

มาคิดๆ ดู อะไรแบบนี้ถ้าไม่แน่จริงก็ทำไม่ได้

เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์เราที่จะต้องตอบสนองด้วยสภาวะที่ไม่ขวาก็ซ้าย ไม่ได้เปรียบก็ต้องเสียเปรียบ แต่สภาวะตรงกลางนี้มันได้พ้นออกจากทั้ง 2 ขั้วนั้นไปไกลแล้ว 

การยืนหยัดอยู่สภาวะตรงกลาง ซึ่งเป็นสภาวะแห่งความสมดุล จึงเป็นสภาวะจิตในอุดมคติ เป็นภาวะสูงสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมี (ถ้าสามารถไปถึงได้)

ตำแหน่ง Tiphareth ซึ่งเป็นสภาวะแห่งพระเจ้า (พระบุตร) จึงสถิตย์อยู่ที่ตรงกลางของเสาต้นนี้ สถิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างสวรรค์ (Kether) และโลก (Malkuth) 

และหนทางที่จะไปถึงเสาต้นนี้ได้ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความอ่อนโยน มีความรัก มีความเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจ เป็นเครื่องชี้นำ มิอาจถึงได้ด้วยความเป็นบวกหรือลบอย่างสุดโต่ง

มิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า สภาวะของเสาตรงกลางนี้ ถ้าเทียบทางพุทธเพราะให้เราชาวพุทธเข้าใจง่าย ที่จริงก็คือจิตแห่งพระโพธิสัตว์ เป็นจิตที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วนชาวคริสต์ท่านว่านี่คือจิตแห่งพระเจ้า ผู้ที่เข้าถึงสภาวะจิตนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้นั่งใกล้พระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง 


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 1)

ผัง Tree of Life (ต้นไม้แห่งชีวิต) เป็นแนวคิดทางปรัชญาของชาวยิวสมัยโบราณ โดยแบ่งสภาวะทางจิตของคนออกเป็น 10 สภาวะ

แต่ละสภาวะเรียกว่า Sefirot (แปลว่า สิ่งที่ส่งผ่านออกมา หรือสิ่งที่เปิดเผยออกมา อุปมาเหมือนสิ่งที่พระเจ้าทรงเผยออกมาสู่มนุษย์) โดยจะแบ่งสภาวะทั้ง 10 นี้ออกเป็น 3 ส่วน เปรียบเสมือนเสา 3 ต้นที่ปักเรียงรายกันอยู่

เสาต้นแรกซ้ายสุดคือเสาแห่ง Severity (ความรุนแรง) ส่วนเสาต้นขวาสุดคือเสาแห่ง Mercy (ความเมตตา)

ความจริงทั้งเสา Severity และ Severity นั้นไม่ควรแปลหรือทำความเข้าใจอย่างตรงตัวเกินไป ความจริงทั้งสองเสานี้เป็นตัวแทนของขั้วบวก/ลบ เพศชาย/หญิง พลังสว่าง/มืด พลวัตรรุกหน้า/ถดถอย เป็นภาวะที่อยู่ตรงข้ามกันตามธรรมชาติ ใครที่เข้าใจเรื่องปรัชญา หยิน/หยาง มาบ้างก็คงเข้าใจสภาวะทั้งสองนี้ได้ไม่ยากนัก

ส่วนเสาตรงกลางนั้นคือเสาแห่ง Mildness (ความอ่อนโยน) เป็นสภาวะตรงกลางที่ผสมผสานกลมกลืนกันระหว่าง Severity (ความรุนแรง) และ Mercy (ความเมตตา)

ที่เสา Mindness จะมีอยู่ 4 สภาวะ (Sefirot ทั้ง4)

เสา Severity มีอยู่ 3 สภาวะ (Sefirot ทั้ง3)

เสา Mercy มีอยู่ 3 สภาวะ (Sefirot ทั้ง3)

รวมกันก็เป็น 10 สภาวะ (Sefirot ทั้ง10) พอดี

โดย 10 สภาวะ (Sefirot ทั้ง10) ประกอบไปด้วย

1. Kether มงกุฏแห่งกษัตริย์ ความสมบูรณ์ สภาวะนามธรรม การปราศจากซึ่งมลทิน การปฏิสนธิเกิดเป็นชีวิต เด็กทารกแรกเกิด (เสา Mildness)

2. Chockmah ภูมิปัญญา พลังแห่งการสร้างสรรค์ ความเป็นเพศชาย ความกะตือรือล้น จุดกำเนิดของรูปธรรม ความคิดเชิงเหตุผล (เสา Mercy) 

3. Binah ความเข้าใจ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความเป็นแม่ ความเป็นเพศหญิง ความรู้สึกเชิงอารมณ์ (เสา Severity) 

4. Chesed ความเมตตาปราณี การปกครอง ปกป้อง ดูแลรักษา การครอบงำ (เสา Mercy) 

5. Geburah ความแข็งแกร่ง อดทน เคร่งครัด ความเป็นนักรบ นักสู้ พลังแห่งการทำลาย (เสา Severity)

6. Tiphareth ความกลมกลืน ความเสียสละ ความงดงาม ตำแหน่งของพระเจ้า (พระบุตรผู้เสียสละไถ่บาปให้มวลมนุษย์) (เสา Mildness)

7. Netzach ชัยชนะ ความคิดสร้างสรรค์ เสน่ห์ พลังแห่งความสวยงาม (เสา Mercy)  

8. Hod ความรุ่งโรจน์ สติปัญญา ไหวพริบ เล่ห์เหลี่ยม การติดต่อสื่อสาร (เสา Severity)

9. Yesod ยุ้งฉาง คลัง การเก็บสะสม รากฐานสำหรับสิ่งต่างๆ ความทรงจำ สิ่งแวดล้อมใกล้ชิด (เสา Mildness)

10. Malkuth อณาจักร ดินแดน ความมั่นคง มั่งคั่ง สุดสายปลายทาง ความเป็นที่สุด สภาวะรูปธรรม การดับสูญ (เสา Mildness)


วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2566

ทำไมทายอดีตจึงแม่นกว่าทายอนาคต?

 "ผมเน้นย้ำอีกครั้ง คุณไม่สามารถเชื่อมโยงจุดต่างๆ ได้ เมื่อคุณมองไปข้างหน้า …คุณจะทำมันได้เมื่อคุณมองย้อนกลับไปเท่านั้น"

- สตีฟ จ๊อบส์ -