สมมุติว่าเราฝึกผสมความหมายจนคล่องดีแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ไปเสียเงินสมัครเรียนที่ไหนเป็นจริงเป็นจังเสียที ค้าเติ่งเป็นท้าวตรีศังกุแบบนี้จะเอายังไงต่อดี?
ไหนก็มาถึงขั้นนี้แล้วเราก็จะลองฝึกอะไรบางอย่างต่อไปอีกนิดก็แล้วกัน
อะไรบางอย่างที่ว่านั้นก็คือการฝึกแปลที่ผสมกันนั้นให้เชื่อมโยงกับคำถาม
โหราศาสตร์นั้นแท้จริงเป็นเรื่องของการตอบคำถาม เราใช้วิชาโหราศาสตร์(รวมไปถึงวิชาพยากรณ์อื่นๆ)สำหรับหาคำตอบที่ต้องการ หากไม่คำถามเสียแล้วกระบวนการพยากรณ์ก็ไม่มีวันเกิดขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น
คำถามที่เรามักได้ยินในแวดวงการพยารณ์ ก็ได้แก่คำถามยอดฮิตต่างๆ ที่บรรดาพ่อหมอแม่หมอทั้งหลายต้องพบเจออยู่เป็นกิจวัตร เช่นว่า
“ความรักเป็นอย่างไร” “การเงินจะดีขึ้นหรือไม่” “จะชนะคดีความหรือไม่” “เรียนต่อคณะไหนดี” “การงานปีนี้จะก้าวหน้ามั๊ย” “อาการป่วยที่มีจะเป็นอย่างไร” บลาๆๆๆ อ่อ ที่ขาดเสียไม่ได้คือ “แฟนหนูที่เพิ่งทะเลาะกันเขาจะกลับมาง้อหนูมั้ยคระ”
ทดลองเอาคำถามพวกนี้แหละเป็นตัวตั้ง แต่เอาดาวที่ผสมกัน(อาจจะสุ่มจับคู่กันขึ้นมา)เป็นตัวตอบคำถาม ก็คือพยามผสมความหมายของดาวให้มันไปกันได้คำถาม …เช่น
ถามว่าเนื้อคู่จะเป็นอย่างไร แล้วได้ดาว พุธ+เสาร์ ก็อาจตอบว่า คู่ครองจะอายุน้อยกว่า(พ)แต่ดูแก่กว่า(ส) หรือเป็นคนปาก(พ)หนัก(ส)ไม่ค่อยพูด หรือเป็นนักเดินทางอยู่ไม่เป็นที่(พ+ส)
หรือถามว่าการเงินจะเป็นอย่างไร แล้วได้ดาว ศุกร์+เซอุส ก็อาจตอบว่า เก็บเงินไม่อยู่แน่ๆเพราะมีแต่แผน(ซ)ใช้เงินแสวงหาความสุข(ศ)
อะไรทำนองอย่างนี้
ในทางปฏิบัติจริงเราจะพบว่าบางคำถามกับบางคู่ดาวก็แปลง่าย แต่บางคู่ดาวก็แปลยาก บางทีก็ถึงขั้นแปลไม่ออกเสียทีเดียว ไม่รู้จะเชื่อมกันเข้าไปได้อย่างไรดี อาจต้องอาศัยพลังงานในการแถไถมากพอดูกว่าจะสามารถโยงดาวกลับมาที่คำถามได้ แต่ก็นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ทักษะในการดิ้นรนของคำแปลนี่แหละคือสิ่งที่สำคัญมากๆ เวลาเราต้องไปเจอดวงจริง
และจะขอปิดตอนที่ 5 ด้วยคำแนะนำอย่างนี้ว่า
หากสะดวกควรหากระดาษแข็งมาตัดเป็นแผ่นๆ ขนาดประมาณซักนามบัตรก็ได้ หนึ่งชุดมี 22 ใบ โดยให้เขียนสัญลักษณ์ดาวทั้ง 22 ลงไปในแต่ละใบ โดยเราต้องการแบบนี้ 3 ชุด สิริรวมแล้ว 66 ใบ (เลขสวยชะมัด)
ลองสับไพ่ 66 ใบนี้แล้วตั้งคำถามอะไรก็ได้ จากนั้นสุ่มหยิบขึ้นมา 2 ใบแล้วตอบคำถามนั้นดูด้วยการผสมคู่ดาวที่หยิบได้ (ถ้าได้ไพ่ซ้ำกันให้หยิบเพิ่ม 1 ใบโดยใบที่ได้ซ้ำนั้นให้รู้ไว้ในใจว่ามันมีน้ำหนักเป็นพิเศษ)
นี่เป็นวิธีการฝึกที่ดีมาก บางทีหากฝึกจนชำนาญก็อาจเอาไปใช้พยากรณ์ได้จริงๆ ซึ่งหลายคนก็ทำอย่างนั้นแหละ
สมัยก่อนเคยมีนักเรียนท่านหนึ่งทำเป็นลูกเต๋า 22 หน้า ถามเสร็จก็ทอยแล้วแปลเลยแบบนี้ก็สะดวกดี สวบงามดูไฮโซ พกพาง่าย เข้าใจว่าพอของหมดเขาก็ไม่น่าจะทำเพิ่มแล้ว พอปล่อยได้หมดก็คงดีใจแทบแย่แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น