เมื่อตอนหัวค่ำผมเดินออกไปกินข้าว แหงนคอมองท้องฟ้าก็เห็นดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส และดาวเสาร์เรียงรายกันอยู่เป็นเส้น จังหวะดีฟ้าโปร่งๆ แบบนี้มองดูแล้วก็สวยดี
ความจริงเพียงแต่เราแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า เราก็จะพบกับความจริงที่สำคัญประการหนึ่งว่า แท้จริงแล้วบนท้องฟ้าไม่ได้มีเส้นส่วนแบ่งพื้นที่หรือแบ่งขอบเขตอะไรทั้งนั้น ท้องฟ้าก็คือท้องฟ้านี่แหละ เป็นพื้นที่ว่างๆ อันไร้ขอบเขต โดยมีดวงดาวใหญ่น้อยเรียงรายอยู่โดยทั่วไปตามการสังเกตของคนบนโลก
การที่คนสมัยโบราณเริ่มแหงนหน้ามองท้องฟ้าในตอนกลางคืนแล้วสังเกตรวมถึงจดบันทึกพฤติกรรมดวงดาวต่างๆ นี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของวิชาโหราศาสตร์ และแน่นอนว่ารวมไปถึงดาราศาสตร์ด้วย
สำหรับการแบ่งพื้นที่บนท้องฟ้าเช่นจักราราศีรวมไปถึงเรือนชะตา (2 เรื่องนี้ความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน) ซึ่งใช้กันอยู่โดยทั่วไปในวิชาโหราศาสตร์นั้น ล้วนเป็นเรื่องที่ถูกสมมุติขึ้นมาภายหลังตามมติเห็นชอบของโหราจารย์สมัยโบราณ
เราแบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ส่วนเรียกว่า 12 ราศีโดยตั้งชื่อตามหมู่ดาวฤกษ์ซึ่งเรียงรายไปตามแนวเส้นสุริยะวิถีก็เพื่อให้ง่ายต่อการขานตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่างๆ ซึ่งโคจรไปตามแนวเส้นสุริยะวิถีนี้ ต่อมาจึงค่อยประดิษฐ์ความหมาย รวมถึงเหตุผลของความหมายเหล่านั้น เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อประโยชน์ในทางพยากรณ์ (รวมไปถึงความหมายของดาวเคราะห์ต่างๆ ด้วย)
ถ้าเราศึกษาวิชาโหราศาสตร์ลงลึกกันไปอีกสักหน่อย เราก็จะพบว่าวิธีการในการแบ่งท้องฟ้านี้ก็มีหลายวิธีด้วยการ
ที่ชัดเจนที่สุดและถือว่าเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั้งโลกก็คือการแบ่งออกเป็น ระบบนิรายะนะ (ราศีคงที่) กับระบบสายนะ (ราศีเคลื่อนที่) ซึ่งทุกวันนี้ 2 ระบบนี้มีความคลาดเคลื่อนกันมากถึงประมาณ 24 องศา
เฉพาะค่าความแตกต่างระหว่าง 2 ระบบซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่าค่า อายนางศ นี้ก็มีคนคิดคำนวณเอาไว้เป็นค่าตัวเลขซึ่งแตกต่างกันหลายสิบค่าแล้ว เพราะสูตรในการคำนวณของแต่ละสำนักมีความแตกต่างกัน
ยิ่งไปถึงเรื่องของการแบ่งเรือนชะตาด้วยแล้วก็ยิ่งมีมากมายหลายสิบวิธีการ โดยแต่ละวิธีต่างก็มีหลักเกณฑ์ของตนเองซึ่งแตกต่างกัน เช่นใช้จุดเริ่มต้นในการตัดแบ่งที่ไม่เหมือนกัน หรือใช้อัตราส่วนในการแบ่งพื้นที่ที่แตกต่างกัน จึงหาข้อสรุปหรือความเป็นมาตรฐานที่แน่ชัดไม่ได้ (อย่างมากก็คือมีบางวิธีการที่ได้รับความนิยมมากกว่าวิธีการอื่น)
แน่นอนว่าทุกวิธีการที่มีความแตกต่างกันเหล่านี้ บรรดาต้นสังกัดทุกสำนักต่างก็ยืนยันมั่นคงว่าวิธีการของตัวเองนั้นเป็นวิธีการที่ดีและได้ผล
ด้วยความตะขิดตะขวงใจทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เอง ทำให้วิชาโหราศาสตร์หัวก้าวหน้าในยุคหลังๆ มาเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของราศีและเรือนชะตาน้อยลง บางสำนักก็ถึงขั้นเลิกใช้กันไปเลย หรือถ้าจะใช้ (ตามความเคยชิน) ก็ใช้เป็นส่วนเสริมเพิ่มเติมมากกว่าจะเป็นวิธีการหลัก เช่นสำนักยูเรเนี่ยน หรือสำนักคอสโมไบโอโลยี่ เป็นต้น
โดยจะให้ความสำคัญกับดาวเคราะห์และการทำมุมถึงกันของบรรดาดาวเคราะห์ เพราะถือหลักการสำคัญว่าว่าโชคชะตานั้นย่อมถูกขับเคลื่อนไปภายใต้อิทธิพล หรืออย่างน้อยก็สอดคล้องกับตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์
โดยเฉพาะสำนักยูเรเนียนนั้นถึงกับมีการคิดค้นดาวเคราะห์สมมุติขึ้นมาใช้ในการพยากรณ์เพื่อให้จำนวนของดวงดาวเพียงพอต่อการนำมาสร้างความหมายเทียบเคียงจากเหตุการณ์ในชีวิตของมนุษย์ ก็เรียกว่าสมมุติเหล่านี้ว่าดาวทรานเนปจูนทั้ง 8 ซึ่งโหราจารย์ในบ้านเรามักเรียกว่าดาวทิพย์
ในยุคเริ่มต้นของยูเรเนียนนั้น เขาเชื่อกันจริงจังว่าดาวทรานเนปจูนทั้ง 8 เป็นดาวที่มีอยู่จริงเพียงแต่ยังส่องกล้องหากันไม่พบ แต่อยู่ไปนานๆ พอวิชาดาราศาสตร์มันมีความเจริญก้าวหน้าไปถึงระดับหนึ่ง บรรดานักโหราศาสตร์ยูเรเนียนจึงค่อยยอมรับกันว่าดาวทรานเนปจูนทั้ง 8 เป็นดาวที่ไม่มีอยู่จริง แต่ก็สามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์ได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้ดาวที่มีอยู่จริงเลย
เรื่องนี้มันก็ทำนองเดียวกับจุดราหูหรือลัคนาซึ่งเป็นจุดสมมุติจากการคำนวณเช่นกัน แต่ก็ได้รับการยอมรับมาตั้งแต่สมัยโบราณจากสำนักโหราศาสตร์ทั่วโลกว่าว่าสามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์ได้เป็นอย่างดี