วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563

ดวงโปรเกรส


ดาวจรปัจจุบัน (Transits) ถือว่าให้กำลังที่อ่อนมาก ตำราหลายๆเล่มก็ยืนยันตรงกันว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตัวช่วยอื่นในการดูทิศทางโดยรวมของปีนั้นๆ ก่อน โดยที่ดาวจรปัจจุบันจะมีหน้าที่เป็นเพียงตัวยืนยันเรื่องเหล่านั้นอีกที
.
ผมเรียกง่ายๆว่าดาวจรจะเป็นตัวมาแทงซ้ำ
.
เช่นในโหราศาสตร์ไทยก็ใช้มหาทศา โหราศาสตร์อินเดียใช้วิมโศตรีทศา ส่วนโหราศาสตร์สากลใช้ดวงโปรเกรส
.
ต้องผ่านด่านอรหันทองคำพวกนี้ไปก่อนถึงจะไปอ่านจรปัจจุบัน
.
คำว่าโปรเกรส (Progress) แปลว่าไปข้างหน้า ความก้าวหน้า หรือความเจริญ
.
ดวงโปรเกรสก็คือการเอาดวงกำเนิดมาทำอะไรซักอย่างเพื่อทำให้มันขยับไปข้างหน้า มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จนสามารถบอกเรื่องราวในแต่และช่วงเวลาของชีวิตโดยเฉพาะได้
.
ดวงโปรเกรสนี้ความจริงเป็นคำเรียกรวมๆ เพราะในความจริงแล้วมันมีวิธีการสร้างดวงโปรเกรสหลายแบบหลายวิธีสุดแต่โหราจารย์แต่ละท่านจะคิดค้นกันขึ้นมา
.
วิธีการโปรเกรสดวงที่เก่าแก่ที่สุดและยังคงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปก็คือ Primary Progression ว่ากันว่าเป็นวิธีการที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัย ปโตเลมี (หรือ ทอเลมี นักภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ และนักโหราศาสตร์ชาวกรีกโบราณ คาดว่ามีชีวิตและทำงานอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ มีชีวิตอยู่ในช่วงค.ศ. 90 – 168) เพราะเป็นวิธีการที่มีเขียนเอาไว้ในคัมภีร์ เตรตาบิโบลส ซึ่งเขียนโดย ปโตเลมี
.
เก่ากว่านี้ก็อาจจะมีแต่คงไม่เป็นที่รู้จัก
.
แต่วิธีการ Primary Progression นี้ค่อนข้างยุ่งยากและให้ผลไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก(สำหรับนักโหราศาสตร์ในสมัยต่อมา) เพราะปรากฏว่าตั้งแต่เกิดจนตายดาวในดวงโปรเกรสชนิดนี้แทบจะไม่ขยับเอาเสียเลย
.
ต่อมาจึงมีการพัฒนาวิธีการอื่นขึ้นมาโดยต่อยอดมาจากวิธีการเดิม เรียกว่าดวง Secondary Progression
.
วิธีการของ Secondary Progression นั้นใช้อัตราที่อาทิตย์เคลื่อนที่ไป 1 วัน คือประมาณ 1 องศามาเทียบเท่ากับเวลา 1 ปี แล้วเอามาเป็นตัวโปรเกรสหรือพาดวง(กำเนิด)เดินไปข้างหน้า
.
เช่นเมื่อชายคนหนึ่งอายุ 35 ปี ก็ผูกดวงขึ้นมาโดยใช้ดวงกำเนิดบวกเพิ่มเข้าไปอีก 35 วัน (เช่นถ้าเขาเกิด 1 มกราคม 2520 ก็จะผูกดวงของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2520 ขึ้นมา) ดวงที่ได้นี้เองเรียกว่าดวง Secondary Progression
.
ซึ่งบางทีก็อาจจะเรียกกันง่ายๆว่า Index Day ก็ได้
.
แต่ในความเป็นจริง ดวงอาทิตย์ไม่ได้เคลื่อนที่ไป 1 องศาคงที่โดยตลอด เช่นหฤดูร้อนดวงอาทิตย์เดินช้าหน่อยไม่เต็มองศาดี ส่วนฤดูหนาวก็เดินเร็วหน่อยเกินองศามานิดๆ
.
ดังนั้นค่าจำนวนวันที่จะถูกบวกเข้าไปจึงจำเป็นที่จะต้องคำนวณกันอย่างละเอียด ซึ่งสมัยนี้ง่าย เพราะจะถูกทดแทนด้วยความสามารถของโปรแกรมคอมพิวเตอร์
.
เมื่อเทียบกับ Primary Progression ของปโตเลมีแล้ว Secondary Progression มีดาวขยับได้เยอะกว่า ทำให้อ่านดวงรายปีทำได้หลากหลายมากกว่า
.
แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าดาวโคจรช้าทั้งหลายเช่นพฤหัส เสาร์ มฤตยู ก็แทบจะไม่ขยับอยู่ดี อยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ดังนั้นในทางปฏิบัติจริงการอ่านดวงโปรเกสจึงมักแนะนำให้เพ่งเล็งกันที่ดาวเดินเร็วเช่น อาทิตย์ จันทร์ พุธ ศุกร์ หรืออังคาร เสียมากกว่า
.
เรื่องดาวเดินช้าไม่ค่อยขยับนี้ คนโบราณไม่ค่อยเป็นปัญหามากนักเพราะชีวิตคนสมัยก่อนนั้นไม่ค่อยโลโผน โดยเฉพาะเรื่องฐานะทางสังคม เพราะใครเกิดมามีพื้นฐานชีวิตอย่างไรก็มักคงสถานะอยู่อย่างนั้นไปตลอด
.
แต่พอสังคมสมัยใหม่มันก็ไม่ใช่ ปรากฏว่าชีวิตคนสับสนยุ่งเหยิงมากขึ้น เดี๋ยวรุ่งเรืองเดี๋ยวตกต่ำ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ดวง Secondary Progression ที่ว่าดีก็ชักจะไม่ตอบโจทย์
.
ในที่สุดก็ได้มีการพัฒนาดวงอีกชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า Solar Arc ซึ่งตำราไทยเราเรียกกันโดยทั่วไป “ดวงโค้งสุริยยาตร์”
.
เรียกกันเต็มๆอย่างนี้บางคนไปสับสนกับคัมภีร์สุริยยาตร์ซึ่งเป็นคัมภีร์คำนวณปฏิทินโหราของไทยแต่โบราณอีก ดังนั้นบางทีก็เรียกกันง่ายๆว่า "ดวงโค้ง" ก็พอ
.
ดวง Solar Arc ความจริงก็คือดวงโปรเกรสอีกอย่างหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยต่อยอดมาจากดวง Secondary Progression อีกที
.
ดวง Solar Arc นั้นยังคงอาศัยหลักอาทิตย์เคลื่อนที่ไป 1 วัน คือประมาณ 1 องศาเทียบเท่ากับเวลา 1 ปีเหมือนกันกับ Secondary Progression
.
แต่แทนที่จะเอาจำนวนวัน (ซึ่งอุปมาว่าเป็นปี) บวกเข้าไปในเวลากำเนิด แต่ดวง Solar Arc จะเอาจำนวนวันนี้ไปเทียบเป็นระทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์(หน่วยเป็นองศา) แล้วระยะทางที่ว่านี้ไปบวกเพิ่มให้กับดาวทุกดวงในดวงกำเนิด
.
ค่าองศาการเคลื่อนที่ของอาทิตย์ที่จะเอาไปบวกนี้เรียกว่า "ค่าโค้ง" (Arc) หรือ "โค้งอาทิตย์ (Solar Arc) หรือบางทีก็เรียกว่า Direction
.
สรุปง่ายๆ ว่า ดวง Solar Arc นี้จะจับเอาดาวทุกดวงในดวงกำเนิดมาหมุนให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยอัตราความเร็วประมาณ 1 องศาต่อปี
.
พอดาวทุกดวงมันขยับแบบนี้แล้ว เวลาเอาไปอ่านเทียบกับดวงกำเนิดมันก็จะทำให้เกิดรายละเอียดต่างๆ ได้มากขึ้น เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในทุกๆ แง่มุมของชีวิตซึ่งมันเมคเซ้นส์มากกว่า
.
และก็เช่นเดียวกันกับ Secondary Progression คือดวงอาทิตย์ไม่ได้เลื่อนที่ไป 1 องศาคงที่โดยตลอด มันช้าบ้างเร็วบ้างแล้วแต่ช่วงฤดูกาล ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วค่าการเลื่อนที่ของ Solar Arc จึงต้องคำนวณกันอย่างละเอียด (ทุกวันนี้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็มารับภาระในส่วนนี้ไป)
.
แต่เนื่องจากค่า Solar Arc ที่คำนวณได้นี้ อย่างไรก็ตามก็จะใกล้เคียงกับ 1 องศาเสมอ (มีขาดเดินบ้างเล็กน้อย) ดังนั้นบางทีก็เลยสรุปแบบตัดจบง่ายๆ ว่า 1 ปีเดิน 1 องศา
.
ซึ่งจะไปมีปัญหากันจริงๆ สำหรับคนที่อายุมากๆ ที่ค่าเศษขาดเศษเกินนี้จะสะสมทับถมกันเรื่อยๆ จนในที่สุดค่าโค้งจริงกับค่าโค้งโดยประมาณเริ่มห่างกันเกิน 1 องศา
.
ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของคำพยากรณ์กันได้เป็นปีๆ เพราะ 1 องศานั้นเปรียบได้กับเวลาถึง 1 ปี
.
ขาดไป 1 องศาก็ช้าไป 1 ปี หรือถ้าเกินไปหนึ่งองศาก็จะเร็วไป 1 ปีเลยทีเดียว
.
โหราศาสตร์สากลโดยทั่วไปใช้ดวง Secondary Progression เป็นตัวช่วยอ่านดวงรายปี ส่วนยูเรเนี่ยนเรานั้นใช้ดวง Solar Arc เป็นมาตรฐานการอ่านดวงรายปี (แนะนำว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด)
.
ทุกวันนี้สำนักโหราศาสตร์สากลหลายสำนักก็แนะนำให้ใช้ดวง Solar Arc เป็นตัวอ่านดวงประจำปีแทนดวง Secondary Progression ที่เคยนิยมกันมาแต่เดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า Solar Arc มีรายละเอียดให้อ่านได้เยอะมากกว่า



:)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น