วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566

อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 4.5)

วงกลมแต่ละวงที่เห็นอยู่ในแผนผัง Tree of Life ก็คือ Sefirot คำนี้มาจากภาษาฮิบรู หมายถึง  “สิ่งที่ส่งผ่านออกมา” หรือ “สิ่งที่ถูกเปิดเผยออกมา”  หรือก็คือสิ่งที่พระเจ้าทรงเผยออกมาสู่มนุษย์ โดยในแผนผังจะมีอยู่ด้วยกัน 10 Sefirot เป็นตัวแทนของ 10 สภาวะธรรม 

ระหว่าง Sefirot จะเห็นเส้นเชื่อมต่อกันไปมา อุปมาเหมือนถนนที่เชื่อมต่อเมืองแต่ละเมืองเข้าด้วยกัน 

การเปลี่ยนแปลงระหว่างสภาวะ (Sefirot) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินทางผ่านเส้นทางเหล่านี้ไปตามลำดับ จะเดินลัดเดินข้ามกันตามอำเภอใจนั้นหาได้ไม่ 

เช่นจากตำแหน่ง Kether (ถือกำเนิด) ซึ่งอยู่บนสุดหากจะเลื่อนไหลลงมาก็เป็นไปได้อยู่สามทาง นั่นก็คือถ้าไปทางขวาก็จะเป็น Chockmah (บิดา เหตุผล) หรือถ้าไปทางซ้ายก็จะเป็น Binah (มารดา อารมณ์) หรือไม่ก็อาจพุ่งลงมาด้านล่าง กลายเป็น Tiphareth อันเป็นตำแหน่งของพระบุตร (ความเสียสละ อ่อนน้อม สมดุล)

แต่จาก Kether (ถือกำเนิด) อยู่ดีๆ จะเกิดบรรลุอะไรสักอย่างแล้วทะลึ่งไปโผล่ที่ Yesod (สะสม กักตุน) หรือ Malkuth (สมบูรณ์ อาณาจักร) อะไรพวกนี้ในทันดีมันไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันข้ามขั้นตอน เหมือนลูกนกยังไม่ทันจะได้ออกจากฟองไข่ก็จะบินเสียแล้วอย่างนั้นหรือ?

ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางผ่านถนนและเมืองต่างๆ ไปตามขั้นตอน แต่จะเดินไปหน้าหรือถอยหลัง จะลัดตรงหรือจะเดินอ้อมกันขนาดไหนนั่น นั่นเป็นอีกเรื่องนึง

ขณะนี้เรากำลังอยู่ที่ตรงไหน? เรากำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน? และจะต้องเดินทางผ่านอะไรบ้าง? 

สาระสำคัญของเรื่อง Tree of Life ที่จริงก็อยู่ที่ตรงนี้


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 4)

ในคัมภีร์ปทมังท่านว่า “ปถมัง กาละลังโหติ” อ.คึกฤิทธิ์ ท่านให้ความหมายในทำนองว่า “ในเบื้องต้นนั้นมีแต่เพียงหนึ่ง” ก่อนจะเป็นหนึ่งนั้นเป็นความว่างมาก่อน เมื่อความว่างสัมผัสเข้ากับอวิชชา (คือความไม่รู้ว่าตัวไม่รู้) จึงปรุงแต่งจนกลายเป็น 1 และจาก 1 นี้เองจึงค่อยแตกแยกออกเป็น 2 เป็น 4 เป็น 8 เรื่อยไปจนกลายเป็นสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมา จะอยู่ดีๆ แล้วโผล่ขึ้นมาเป็นสิ่งต่างๆ นั้นหาได้ไม่

ส่วนในคัมภีร์ของศาสนาเต๋าท่านว่า สรรพสิ่งต่างๆล้วนเกิดจากความ “ว่าง” (อู๋จี๋) และจากความว่างนี้จึงค่อยกลายเป็นความ “เต็ม” โดยในเบื้องต้นนั้นความเต็มยังคงสมดุล(ไท่จี๋) จนกระทั่งเมื่อเสียภาวะสมดุลไปจึงเกิดการแบ่งแยกเป็นอิน เป็นหยาง เป็นความมืดความสว่าง เป็นความอ่อนความแข็ง เป็นความดีความเลว เป็นทวิสภาวะต่างๆ

และไม่ว่าจะพุทธหรือเต๋าสุดท้ายแล้วปลายทางของทุกสรรพสิ่งคือการกลับคืนสู่ 1 คืนสู่ความว่างอันเป็นประถมของทั้งปวง (แต่จะกลับคืนได้ตอนไหนยังไงนั่นอีกเรื่อง)

ใน Tree of Life สรรพสิ่งย่อมบังเกิดโดยพระประสงค์ใน Kether เมื่อแรกเกิดจึงยังบริสุทธิ์ ไร้มลทิน เป็นสิ่งที่คล้ายนามธรรม มีอยู่แต่ก็มิอาจบรรยายได้โดยง่ายว่าสิ่งนี้คืออะไร (ทำนองเดียวกับศาสนาเต๋าที่บอกว่า เต๋านั้นอธิบายไม่ได้ เพราะถ้าหากอธิบายได้ก็จะสูญเสียความเป็นเต๋าไป)

จาก Kether นี้เองจึงค่อยแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นๆ เดินทางผจญภัยไปตาม Sefirot ต่างๆ ดุจนักเดินทางที่ออกผจญภัยไปตามเมืองต่างๆ ฉะนั้น

ที่เสา Mercy เราจะเห็นอยู่ 3 สภาวะ คือ Chockmah (ภูมิปัญญา ความฉลาด ความเป็นบิดา) Chesed (ความเมตตาปราณี ปกป้องคุ้มครอง) และ Netzach (ชัยชนะ ความสวยงาม ความมีเสน่ห์)

ส่วนที่เสา Severity จะเห็นอยู่ 3 สภาวะ คือ Binah (ความเข้าใจ ความรัก ความเป็นมารดา) Geburah (ความแข็งแกร่ง อดทน พลังแห่งการทำลาย) และ Hod (ไหวพริบ เล่ห์เหลี่ยม การติดต่อสื่อสาร)

ทั้งเสา Mercy และ Severity เป็นภาวะตรงข้ามกัน (เป็นอินเป็นหยาง)

Chockmah (ปัญญา) เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับ Binah (อารมณ์)

Chesed (เมตตา) เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับ Geburah (ทำลาย)

Netzach (เสน่ห์) เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับ Hod (ไหวพริบ)

ในชั่วแต่ละลมหายใจ สภาวะจิตของท่านได้ท่องเที่ยวไปยังที่แห่งใดกันล่ะ?

ที่เสาทั้ง 2 นี้ เมื่อมาวิเคราะห์ดูให้ดีก็จะพบว่า มันได้ถูกไล่เรียงจากความเป็นนามธรรมไปสู่ความเป็นรูปธรรม (จากบนลงล่าง) ยิ่งออกห่างจาก Kether (สวรรค์) มากเท่าไหร่ก็สูญเสียความโลกุตระ และยิ่งเข้าใกล้ Malkuth (โลก) มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความเป็นโลกียะมากยิ่งขึ้น

ในภาพแผนผัง Tree of Life เราจะเห็นว่าทั้ง Chockmah (ปัญญา) Binah (อารมณ์) Chesed (เมตตา) Geburah (ทำลาย) Netzach (เสน่ห์) และ Hod (ไหวพริบ) ล้วนมีเส้นโยงไปถึง Tiphareth อันเป็นตำแหน่งของจิตแห่งพระเจ้า  

นั่นเพราะ ปัญญา ความรัก ความเมตตา ความแข็งแกร่งอดทน ความมีเสน่ห์เป็นรัก และความมีไหวพริบ ล้วนเป็นคุณสมบัติสำคัญของความเป็น Tiphareth ทั้งสิ้น

ข้อนี้ที่จริงรวมไปถึง Kether (บริสุทธิ์ ไร้มลทิน) และ Yesod (เก็บรักษา เก็บสะสม) ด้วย

หากการเดินทางผ่านเสา Mercy หรือ Severity ไม่สามารถพาตัวเองให้ไปสู่ Tiphareth ได้ (กลับไป Kether นั้นไม่ต้องพูดถึง) สุดท้ายมันก็จะอ้อมไปหา Yesod (คลัง การเก็บสะสม ความต้องการต่างๆ) อันจะนำไปสู่ Malkuth (ความสุขแบบโลกๆ) อันเป็นจุดหมายปลายทางในท้ายที่สุด

เป็นความสุข ความสมบูรณ์ แต่ก็เป็นสุขสมบูรณ์แบบโลกๆ ยังห่างใกลจากภาวะแห่งพระเจ้านัก

การจะกลับคืนสู้ Tiphareth น่ะหรือ?

ก็ต้องละ Malkuth (ความสุขแบบโลกๆ) และ Yesod (การเก็บสะสม) ให้ได้ก่อน จากนั้นจะพุ่งตรงไปที่ Tiphareth หรือไปเดินอ้อมในเสา Mercy หรือ Severity ก่อนแล้วค่อยกลับเข้าไปที่ Tiphareth ก็ไม่ว่ากัน

ศาสนิกชาวคริสต์นั้น ใช้การรับเชื่อพระเยซูเป็นบานประตูเพื่อกลับคืนสู่สรวงสวรรค์ ดังจะเห็นว่า Tiphareth นั้นมีเส้นซึ่งเชื่อมตรงที่เป็นเหมือนลิฟท์อวกาศพุ่งตรงขึ้นสู่ Kether 

ความจริงแล้วการจะกลับคืน Kether โดยไม่ผ่าน Tiphareth ก็ย่อมสามารถทำได้ (ท่านลองไปลากเส้นเดิมอ้อมดู) แต่แลดูเหมือนว่าจะเป็นเส้นทางที่อ้อมค้อมและยุ่งยากอยู่ไม่น้อย 

การนำพาสภาวะจิตมายัง Tiphareth (พระบุตร) แล้วพุ่งตรงขึ้นสู่ Kether (พระบิดา) จึงดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีการที่ง่าย และน่าสนใจมากกว่า และเป็นวิธีการที่ศาสนิกชาวคริสต์เลือกใช้ในการเดินทาง 


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 3.5)

เขียนเวิ้นเว้อถึง Tree of Life ไปหลายตอนถึงเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่ามีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ลืมเขียนถึงไป นั่นก็คือถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีการเขียนถึงพระเยซูคริสต์หรือพระยาห์เวห์อยู่โดยตลอด แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องของ Tree of Life นี้เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับศาสนาคริสต์(แท้ๆ)อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน

การยกอ่างถึงพระเยซูคริสต์หรือพระยาห์เวห์มาอธิบายในเรื่องของ Tree of Life นี้ ความจริงเป็นเรื่องของการ “ยืม” มาอธิบาย เพื่อให้สามารถเข้าใจได้โดยง่ายก็เพียงเท่านั้น 

หรือถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ถ้าเราเอาเรื่องพวกนี้ไปคุยกับบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลสักท่าน (รวมไปถึงพระรับบีในศาสนายูดาห์ของชาวยิวแท้ๆ) ถึงท่านจะไม่ได้ว่ากล่าวอะไรแต่เชื่อเถอะในใจนั้นคงคิดว่า ไอ้หมอนี่มันนอกรีตชะมัด เอาอะไรมาพูดกันเป็นตุเป็นตะ จับแพะชนแกะปนมั่วกันไปหมด 

Tree of Life นั้นเป็นปรัชญาโบราณของชาวยิว เชื่อกันว่าน่าจะมีมาก่อนการอุบัติขึ้นของศาสนาคริสต์ โดยสาระสำคัญ Tree of Life เป็นเรื่องของสภาวะธรรมทางจิต ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะทำความเข้าใจ การหาอะไรสักอย่างที่คนคุ้นเคยมาเป็นตัวเปรียบเทียบจึงเป็นวิธีการที่ดีในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ 

(ทำนองเดียวกับที่ชาวพุทธอธิบายเรื่องของจิตโดยอาศัยแผนภาพปฏิจจสมุปบาท หรือชาวศาสนาต้าว (เต๋า/เต้า) อธิบายพลวัตทางธรรมชาติด้วยแผนภูมิไท่จี๋)

ถ้าไม่นับคนยิวแท้ๆแล้ว คนกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มสนใจศึกษาค้นคว้าและอธิบายเรื่องของ Tree of Life ก็ไม่พ้นฝรั่ง และเป็นธรรมดาของฝรั่งที่ย่อมคุ้นเคยกับศาสนาคริสต์มาเป็นอย่างดี อีกทั้งศาสนาคริสต์เองก็มีรากลึกเกี่ยวพันอยู่กับวัฒนธรรมยิวอยู่อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นการยกยืมเอาเรื่องราวในคริสต์ศาสนามาเป็นตัวอธิบายจึงเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมในตัวของมันเองตามธรรมชาติ 

ดังนั้นนั้นโดยสรุปแล้ว Tree of Life จึงไม่ใช่คำสอนของศาสนาคริสต์แน่ๆ และเรื่องราวของศาสนาคริสต์ที่ปรากฏอยู่ในคำอธิบายของ Tree of Life ก็เป็นไปในลักษณะของการยืมมาอธิบายดังที่ได้กล่าวไปแล้ว 

เรื่องนี้ความจริงรวมไปถึงภาคที่มีการเชื่อมโยงไปหาศาสตร์การพยากรณ์ต่างๆไม่ว่าจะไพ่ทาโร่หรือโหราศาสตร์ด้วย เป็นการเชื่อมโยงและอธิบายเพิ่มเติมกันเข้าไปในภายหลัง หาใช่สาระสำคัญอันเป็นเนื้อแท้ของเรื่องนี้ไม่ 

เมื่อเข้าใจเป็นพื้นฐานตรงกันดังนี้แล้ว … ก็ลุยต่อกันโลด


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 3)

ศาสนิกชาวคริสต์ไม่ได้นับถือพระเยซูในฐานะของศาสดาแต่เพียงอย่างเดียว หากได้ยังนับถือพระเยซูในฐานะของ “พระเจ้า” เสียเลยทีเดียวอีกด้วย เพราะแท้จริงแล้วทั้งพระเยซูและพระยาห์เวห์ คือหนึ่งเดียวกัน 

หากบอกว่าพระยาเวห์คือพระเจ้าบนสรวงสวรรค์แล้ว พระเยซูก็คือพระเจ้าซึ่งมาปรากฏกายบนโลกมนุษย์ 

สำหรับเรื่องนี้ถ้าเราไปเอาแนวคิดเรื่อง “อวตาร” ของศาสนาฮินดู (สนาตนธรรม) มาเปรียบเทียบอธิบายก็คงเข้าใจกันได้ไม่ยากนัก ต่างกันตรงที่อวตารของฮินดูนั้นแม้จะมีต้นกำเนิดมาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่ก็ไม่ได้ถือว่าอวตารนั้นเป็นพระผู้เป็นเจ้าเองเสียทีเดียว

ดังเช่นตอนหนึ่งในเรื่องมหาภารตะ ที่พระพลราม (บัลราม) ตำหนิพระกฤษณะ (ที่ไปยุให้ภีมะเล่นนอกเกมโดยเอาคฑาไปตีสะโพกทุรโยธน์ในการประลองซึ่งถือว่าเสียเกียรติเป็นอย่างมาก) ​ว่า “เราขอตำหนิท่านในการกระทำที่น่าอัปยศอดสูนี้ เพราะถึงแม้นท่านจะเป็นองค์อวตารของพระวิษณุเจ้า แต่บัดนี้ท่านก็คือกฤษณะน้องของเรา”

ส่วนทางคริสเตียนนั้นยังคงถือว่าพระเยซูกับพระยาห์เวห์เป็นหนึ่งเดียวกันแยกออกจากกันมิได้ เช่นถ้าใครตำหนิพระเยซูนั่นก็หมายถึงว่าเขากำลังตำหนิพระยาห์เวห์โดยตรงกันเลยทีเดียว 

เรื่องนี้มีเกร็ดเล่ากันสนุกๆ ว่าครั้งหนึ่งในงานสังคายนาแห่งหนึ่งเคยมีนักบวชท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นโต้แย้งในเรื่องนี้ โดยเสนอความเห็นว่าพระเยซูกับพระยาห์เวห์นั้นควรเป็นคนละสิ่งกัน แยกขาดออกจากกัน ทันใดนั้นเซนต์นิโคลัสหรือที่พวกเรารู้จักกันดีในนามของซานตาคลอสนั่นแหละ ถึงกับหัวร้อนลุกขึ้นมาตกปากคนพูดกันเลยทีเดียว เพราะถือว่าพูดกันอย่างนี้เป็นการลบหลู่มาก 

ดังนั้นพระเยซูจึงอยู่ในฐานะพระเจ้าผู้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ 

ถ้าเราพิจารณาที่เสาต้นกลาง (เสาแห่ง Mildness) เราจะพบกับสภาวะ Tiphareth (ความกลมกลืน ความเสียสละ) สถิตอยู่กลางเสา ที่ตำแหน่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำแหน่งของพระเจ้า คำว่าพระเจ้าในที่นี้ก็คือพระเยซูนั่นแหละ

สูงขึ้นไปจะเป็นสภาวะ Kether หรือมงกุฏแห่งกษัตริย์  ส่วนเบื้องล่างสุดปลายทางนั้นเป็นสภาวะ Malkuth หรือความมั่งคั่ง มั่นคง อาณาจักร โดยมี Yesod หรือ ยุ้งฉาง การเก็บสะสม ขั้นกลางเอาไว้อีกทีระหว่าง Malkuth กับ Tiphareth

หาก Tiphareth เปรียบดั่งพระเยซู สูงขึ้นไปคือ Kether ก็คือพระยาห์เวห์หรือสรวงสวรรค์ ส่วน Malkuth ด้านล่างก็คือโลกมนุษย์ Tiphareth จึงเป็นจุดที่มาบรรจบกันระหว่างสวรรค์และโลก

ในความเชื่อของชาวคริสต์ ทุกสรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้นตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า Kether ซึ่งเป็นสภาวะแห่งการก่อกำเนิด จึงเป็นตัวแทนโดยตรงของพระพระยาห์เวห์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นตัวแทนของพระประสงค์

เมื่อสรรพสิ่งเกิดขึ้นล้วนบริสุทธิ์ เฉกเช่นเดียวกับเด็กทารกที่ยังมิรู้จักดีชั่ว Kether จึงเป็นตัวแทนของการก่อกำเนิด ความบริสุทธิ์ไร้มลทิน เป็นสภาวะแห่งนามธรรมซึ่งมนุษย์กิเลสหนาอย่างพวกเราเข้าใจได้ยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้มีอยู่จริง และได้เกิดขึ้นมาแล้ว

Kether จึงเป็นสภาวะแรก เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งหมด ก่อนที่จะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะอื่นต่อไป จาก Kether จะกลายเป็น Chockmah (หยาง) หรือ Binah (หยิน) ก็ได้ หรือจะมุ่งตรงมายัง Tiphareth (ไทจี๋/สมดุลย์) เลยก็ได้

ตรงข้ามกับ Kether โดยสิ้นเชิงก็คือ Malkuth เพราะ Malkuth เป็นภาวะแห่งรูปธรรมโดยแท้ จับต้องได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ถึงการมีอยู่อย่างชัดเจน เป็นจุดสิ้นสุด เป็นความเต็มเปี่ยมที่ไม่สามารถเอาอะไรเติมเข้าไปได้อีกแล้ว 

ถ้า Kether คือเรื่องโลกุตตระ Malkuth ก็คงเป็นเรื่องทางโลกียะแท้ๆ 

สำหรับ Yesod นั้นอยู่ตรงกลางระหว่าง Tiphareth กับ Malkuth โดย Yesod เป็นสภาวะของการเก็บสะสม กักตุน เปรียบได้ดั่งยุ้งฉางหรือคลังมหาสมบัติ ถ้าจะพูดหรืออธิบายกันอย่างแรงๆ อาจจะบอกว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า “กิเลส” คงจะพอได้ (แม้จะไม่ถูกต้องนะแต่ก็น่าจะช่วยทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น)

หาก Tiphareth ร่วงหล่นลงมาแล้วมาพบเข้ากับ Yesod ก็จะเสียความเป็นสภาวะแห่งพระเจ้าไป โดยมุ่งหน้าตรงไปสู่ Malkuth โลกแห่งวัตถุ ถ้า Yesod เก็บสะสมได้มากพอท้ายที่สุดมันก็จะกลายเป็นความมั่งคั่งหรือ Malkuth นั่นเอง

แต่ถ้า Tiphareth เกิดเบื่อหน่ายทางโลก หนีจากข้างล่างกลับขึ้นไปข้างบนท้ายที่สุดก็ย่อมกลับคืนสู่ภาวะต้นกำเนิด หรือกลับคืนสู่สรวงสวรรค์อันเป็นที่สถิตของพระบิดานั่นเอง 


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 2)

บางทีชีวิตผมอาจจะมีบุญสัมพันธ์บางอย่างกับศาสนาคริสต์ก็ได้กระมัง ตอนเป็นเด็กก็โตมาในโรงพยาบาลมิชชันนารี เพราะร่างกายเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ  ตามประสามนุษย์เนปจูนอยู่เรือน 8 นอนให้น้ำเกลืออยู่บนเตียงก็อ่านไบเบิลแก้เซ็งวนๆไป ต่อมามีเมีย เมียก็เป็นคริสเตียนอีก

ที่จริงทุกวันนี้เวลามีคนถามผมว่าผมนับถือศาสนาอะไร บางทีก็อ้ำอึ้งตอบไม่ถูกเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าสำหรับเรื่องพวกนี้ตัวเองคงเป็นประเภทได้หมดถ้าสดชื่น แต่ถ้าให้อยู่ในกรอบในร่องในรอยอย่างเคร่งครัดกับอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะแล้วไม่ว่าศาสนาอะไรก็คงเป็นศาสนิกที่ดีไม่ได้ เพราะมักคิดอะไรนอกลู่นอกทางจากที่เขาสอนๆ เชื่อๆ กัน 

นี่ก็ตามประสามนุษย์ดาวพุธถึงพฤหัสและพลูโตอีก 

สมัยเด็กๆ เคยได้ยินที่ศาสนิกชาวคริสต์เขาสอนว่า “ถ้าเขาตบแก้มซ้ายท่าน ก็ให้ยื่นแก้มขวาให้เขาตบอีกสักที” อะไรทำนองอย่างนี้ สมัยเด็กๆฟังแล้วรู้สึกว่าอีหยังวะ มึงจะยอมให้มันตบทำไมเยอะแยะ โดนตบไปทีเดียวก็น่าจะแย่พอแล้ว 

แต่พออยู่ไปนานๆ เริ่มกร้านโลก พอรู้จักอะไรๆ ในโลกมากขึ้นจึงเข้าใจว่าคำสอนนี้ที่จริงเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง

ถ้าเขาตบแก้มซ้ายเรา เราจะทำอย่างไร?

ทางเลือกแรกคือก็อาจจะเราโมโห ถึงโมโหมาก โมโหจนควันออกหู แล้วคิดว่ามึงตบกูได้กูก็จะตบมึงคืน เอาให้อ๊วกแตก จัดหนักเป็น 10 เท่า 100 เท่า เอาให้สาแก่ใจสาแก่ความแค้น 

ถ้ามารูปนี้สภาวะจิตของเราคือกำลังไหลอยู่ในฝั่งของเสาทางซ้าย เป็นเสาแห่ง Severity (ความรุนแรง) 

เป็นสภาวะจิตด้านที่แข็งแกร่ง ก้าวร้าว ดุดัน รุนแรง เต็มเปี่ยวไปด้วยอัตตา เป็นภาวะที่เป็นหยางแบบสุดๆ สว่างไสว ร้อนแรง สภาวะอย่างนี้อาจจะสรุปง่ายๆ ว่าเป็นภาวะที่แข็งกระด้างเกินไป มึงตบมากูก็ตบกลับ ตบกันไปตบกันมาสุดท้ายลงลากปืนมายิง แล้วก็คงตายกันไปข้าง 

แต่ถ้าโดนตบแล้วอาจจะรู้สึกหวาดกลัว ยอมแพ้ ยอบสิโรราบ สอนเสียเปรียบ ยอมเป็นผู้ให้แต่ฝ่ายเดียว เป็นผู้ยอมรับในโชคชะตาอย่างไม่มีเงื่อนไข ในกรณีนี้ก็อาจจะร้องไห้ฟูมฟาย หรืออาจจะวิ่งหนี หรือบางทีอาจจะยืนอยู่นิ่งๆ ให้เขาตบๆๆๆอีกจนหนำใจ 

แต่ก็เป็นการยอมให้ตบแบบผู้แพ้ ผู้หวาดกลัว ไร้สิ้นพละกำลังจนไม่กล้าหืออือหรือทำอะไรตอบโต้ (ก็เป็นคนล่ะเรื่องก็การยื่นแก้มขวาให้ตบแบบที่อยู่ในคำสอน)

ถ้ามาในรูปนี้ นี่ก็คือสภาวะจิตที่กำลังไหลอยู่ในฝั่งของเสาทางขวา เป็นแห่ง Mercy (ความเมตตา) เป็นสภาวะจิตด้านที่อ่อนโยน นุ่มนวล เป็นพลังฝ่ายหยิน ฟังดูดีก็จริงแต่ถ้ามากไปก็อาจจะเป็นความอ่อนแอขึ้นมาได้ 

สรุปว่าไปทางเสาซ้ายก็มากเกินไป ตึงเกินไปจนพร้อมจะขาดได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าไปทางเสาขวามากเกินไปก็หย่อนเกิน หย่อนยานจนใช้การอะไรไม่ได้

ส่วนเสาตรงกลางที่เรียกว่าเสาแห่ง Mildness (ความอ่อนโยน) เป็นภาวะที่ผสมผสานกันระหว่าง Mercy และ Severity 

การผสมผสานนี้เกิดจากการนำเอาจุดเด่นหรือข้อดีของทั้งสองฝ่ายเข้ามารวมไว้ด้วยกัน (เอาจุดเด่นมาผสมกันเหมือนยูเรเนี่ยนผสมดาวนั่นแหละ ไม่ได้เอาข้อดีกับข้อด้อยเข้ามาหักล้างกัน) สภาวะของเสานี้ที่จริงแล้วจึงมีพลังอำนาจในตัวของมันเอง เพราะเอาพลังงานที่สร้างสรรค์ของจากสองขั้วเข้ามาไว้ด้วยกัน 

ถ้าฉันโดนตบแก้มซ้าย ฉันไม่โกรธเธอ แต่ฉันก็จะไม่วิ่งหนีหรือหวาดกลัวเธอด้วย ถ้าเธออยากตบฉันก็จงตบฉันให้พอใจ แล้วฉันจะสวมกอดเธอด้วยความรัก 

มาคิดๆ ดู อะไรแบบนี้ถ้าไม่แน่จริงก็ทำไม่ได้

เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์เราที่จะต้องตอบสนองด้วยสภาวะที่ไม่ขวาก็ซ้าย ไม่ได้เปรียบก็ต้องเสียเปรียบ แต่สภาวะตรงกลางนี้มันได้พ้นออกจากทั้ง 2 ขั้วนั้นไปไกลแล้ว 

การยืนหยัดอยู่สภาวะตรงกลาง ซึ่งเป็นสภาวะแห่งความสมดุล จึงเป็นสภาวะจิตในอุดมคติ เป็นภาวะสูงสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมี (ถ้าสามารถไปถึงได้)

ตำแหน่ง Tiphareth ซึ่งเป็นสภาวะแห่งพระเจ้า (พระบุตร) จึงสถิตย์อยู่ที่ตรงกลางของเสาต้นนี้ สถิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างสวรรค์ (Kether) และโลก (Malkuth) 

และหนทางที่จะไปถึงเสาต้นนี้ได้ เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความอ่อนโยน มีความรัก มีความเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจ เป็นเครื่องชี้นำ มิอาจถึงได้ด้วยความเป็นบวกหรือลบอย่างสุดโต่ง

มิตรสหายท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า สภาวะของเสาตรงกลางนี้ ถ้าเทียบทางพุทธเพราะให้เราชาวพุทธเข้าใจง่าย ที่จริงก็คือจิตแห่งพระโพธิสัตว์ เป็นจิตที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วนชาวคริสต์ท่านว่านี่คือจิตแห่งพระเจ้า ผู้ที่เข้าถึงสภาวะจิตนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้นั่งใกล้พระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง 


อธิบายเรื่อง Tree of Life แบบง่ายๆ (ตอนที่ 1)

ผัง Tree of Life (ต้นไม้แห่งชีวิต) เป็นแนวคิดทางปรัชญาของชาวยิวสมัยโบราณ โดยแบ่งสภาวะทางจิตของคนออกเป็น 10 สภาวะ

แต่ละสภาวะเรียกว่า Sefirot (แปลว่า สิ่งที่ส่งผ่านออกมา หรือสิ่งที่เปิดเผยออกมา อุปมาเหมือนสิ่งที่พระเจ้าทรงเผยออกมาสู่มนุษย์) โดยจะแบ่งสภาวะทั้ง 10 นี้ออกเป็น 3 ส่วน เปรียบเสมือนเสา 3 ต้นที่ปักเรียงรายกันอยู่

เสาต้นแรกซ้ายสุดคือเสาแห่ง Severity (ความรุนแรง) ส่วนเสาต้นขวาสุดคือเสาแห่ง Mercy (ความเมตตา)

ความจริงทั้งเสา Severity และ Severity นั้นไม่ควรแปลหรือทำความเข้าใจอย่างตรงตัวเกินไป ความจริงทั้งสองเสานี้เป็นตัวแทนของขั้วบวก/ลบ เพศชาย/หญิง พลังสว่าง/มืด พลวัตรรุกหน้า/ถดถอย เป็นภาวะที่อยู่ตรงข้ามกันตามธรรมชาติ ใครที่เข้าใจเรื่องปรัชญา หยิน/หยาง มาบ้างก็คงเข้าใจสภาวะทั้งสองนี้ได้ไม่ยากนัก

ส่วนเสาตรงกลางนั้นคือเสาแห่ง Mildness (ความอ่อนโยน) เป็นสภาวะตรงกลางที่ผสมผสานกลมกลืนกันระหว่าง Severity (ความรุนแรง) และ Mercy (ความเมตตา)

ที่เสา Mindness จะมีอยู่ 4 สภาวะ (Sefirot ทั้ง4)

เสา Severity มีอยู่ 3 สภาวะ (Sefirot ทั้ง3)

เสา Mercy มีอยู่ 3 สภาวะ (Sefirot ทั้ง3)

รวมกันก็เป็น 10 สภาวะ (Sefirot ทั้ง10) พอดี

โดย 10 สภาวะ (Sefirot ทั้ง10) ประกอบไปด้วย

1. Kether มงกุฏแห่งกษัตริย์ ความสมบูรณ์ สภาวะนามธรรม การปราศจากซึ่งมลทิน การปฏิสนธิเกิดเป็นชีวิต เด็กทารกแรกเกิด (เสา Mildness)

2. Chockmah ภูมิปัญญา พลังแห่งการสร้างสรรค์ ความเป็นเพศชาย ความกะตือรือล้น จุดกำเนิดของรูปธรรม ความคิดเชิงเหตุผล (เสา Mercy) 

3. Binah ความเข้าใจ ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความเป็นแม่ ความเป็นเพศหญิง ความรู้สึกเชิงอารมณ์ (เสา Severity) 

4. Chesed ความเมตตาปราณี การปกครอง ปกป้อง ดูแลรักษา การครอบงำ (เสา Mercy) 

5. Geburah ความแข็งแกร่ง อดทน เคร่งครัด ความเป็นนักรบ นักสู้ พลังแห่งการทำลาย (เสา Severity)

6. Tiphareth ความกลมกลืน ความเสียสละ ความงดงาม ตำแหน่งของพระเจ้า (พระบุตรผู้เสียสละไถ่บาปให้มวลมนุษย์) (เสา Mildness)

7. Netzach ชัยชนะ ความคิดสร้างสรรค์ เสน่ห์ พลังแห่งความสวยงาม (เสา Mercy)  

8. Hod ความรุ่งโรจน์ สติปัญญา ไหวพริบ เล่ห์เหลี่ยม การติดต่อสื่อสาร (เสา Severity)

9. Yesod ยุ้งฉาง คลัง การเก็บสะสม รากฐานสำหรับสิ่งต่างๆ ความทรงจำ สิ่งแวดล้อมใกล้ชิด (เสา Mildness)

10. Malkuth อณาจักร ดินแดน ความมั่นคง มั่งคั่ง สุดสายปลายทาง ความเป็นที่สุด สภาวะรูปธรรม การดับสูญ (เสา Mildness)