วันก่อนโน้นกดแชร์เรื่องยามอุบากองไปแหม็บๆ วันนี้เปิดหนังสือนอนอ่านพลิกไปพลิกมาก็มาเจอกับยามอุบากองอีก(แล้ว) ก็เลยถือโอกาสนี้ยกเอาเรื่องนี้มาเขียนบ้างก็แล้วกัน
โบราณท่านว่า
“ศูนย์หนึ่งอย่าพึงจร …… แม้ราญรอนจะอัปรา
ศูนย์สองเร่งยาตรา …… จะมีลาภสวัสดี
ปลอดศูนย์พูลสวัสดิ์ …… ภัยพิบัติลาภบ่มี
กากบาทตัวอัปรีย์ …… แม้จรลีจะอันตราย
สี่ศูนย์จะพูนผล …… จรดลลาภมากมาย
ฤกษ์ดีและฤกษ์ร้าย …… ใช้ดูได้ดั่งใจจง”
(ดูภาพประกอบตามไปด้วย)
ตำรายามอุบากองนั้น เป็นตำราสำหรับหาฤกษ์ยามแบบง่ายๆ มีจุดประสงค์การใช้ที่สำคัญอยู่ 2 ประการคือ “ใช้หาเวลาดีสำหรับเดินทางหรือเริ่มกระทำการใดๆ” หรือใช้ดูว่า “เหตุการณ์ดีหรือร้ายในแต่ละวันจะเกิดเวลาไหน”
ในตารางที่เห็น ส่วนแนวนอนที่เขียนว่า 1 ค่ำ 2 ค่ำนั้น หมายถึงวันขึ้นแรมตามจันทรคติ (เช่นขึ้น 1 ค่ำหรือแรม 1 ค่ำก็ได้) จะสังเกตว่ามีสุดเพียงแค่ 5 ค่ำเท่านั้น ดังนั้นถ้าวันที่เราจะทายมันเลย 5 ค่ำไปแล้วก็จะต้องเอา 5 ไปหาร เหลือเศษเท่าไหร่ก็นั่นแหละคือที่เราจะต้องใช้
เช่นสมมุติว่าวันนี้ เป็นวันแรม 6 ค่ำ มันเกิน 5 ไปแล้ว เราต้องเอา 5 ไปหารก็จะเหลือเศษ 1 เพราะฉะนั้นก็ให้ใช้แถว 1 ค่ำเป็นเกณฑ์สำหรับวันนี้ เป็นต้น
ต่อมาแถวแนวตั้ง ก็คือช่วงยามใน 1 วันนั่นเอง คนถามกี่โมงก็ให้ใช้ช่วงยามไปตามนั้น
สมมุติมีคนถามว่า “วันนี้ซัก 2 ทุ่มจะเดินทางใกลจะดีหรือไม่”
เราก็ดูปฏิทิน (สมัยนี้หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา search ใน Google ก็ได้) สมมุติว่าเป็นวัน แรม 1 ค่ำเดือน 3 ปีฉลู
เราดูในตาราง 1 ค่ำตอน 2 ทุ่ม จะเห็นว่าได้ 4 จุด
ตำราท่านว่า “สี่ศูนย์จะพูนผล …… จรดลลาภมากมาย” ก็แสดงว่าฤกษ์ดี สมควรแก่การเดินทาง อะไรประมาณนี้แหละครับ
#VintageStyle
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น