วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ราหูเหนือใต้

ราหู (Node) เป็นจุดสมมุติบนท้องฟ้า หมายถึงจุดซึ่งเกิดการตัดกันระหว่างเส้นวงโคจรของโลก (รอบดวงอาทิตย์) และดวงจันทร์ (รอบโลก)

เนื่องจากเป็นจุดตัดกันระหว่างเส้นวงโคจ จึงเกิดเป็นจุดตัดขึ้นสองจุดซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกันเสมอ เรียกว่า “ราหูเหนือ” (North Node) และ “ราหูใต้” (South Node)

เฉพาะราหูใต้หรือ South Node นี้คนไทยเรามักเรียกว่า “เกตุ” แต่เพื่อไม่ให้ไปสับสนกับดาวเกตุไทยซึ่งเกิดจากคำนวณของโหราจารย์ไทยสมัยโบราณ (ซึ่งว่ากันว่าจริงๆแล้วคือดาวหาง) ก็เลยมักเรียกขยายไปอีกว่าเป็น “เกตุสากล” เพื่อไม่ให้ซ้ำกับ “เกตุไทย” (เกตุไทยโคจรเร็วกว่าและมีตำแหน่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับราหู)

ส่วนราหูเหนือเราก็เรียกง่ายๆ ว่า “ราหู”

ราหู (ราหูเหนือ) เป็นปัจจัยทางโหราศาสตร์ซึ่งแสดงถึงความปรารถนาของจิตใจ เพราะฉะนั้นมันจึงมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาวะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า การมุ่งไปสู่ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพัฒนา และ “อนาคต”

เนื่องจากราหูเป็น “แรงปรารถนา” เป็นแรงผลักดันที่แสนเย้ายวนที่มนุษย์ต้องเผชิญและยากต่อการปฏิเสธ ทำนองเดียวกับแมลงที่ปฏิเสธการมุ่งเข้าไปหากองไฟที่ลุกโชนได้ยาก ดังนั้นราหูจึงอาจเป็นสัญลักษณ์ของจุดอ่อนของแต่ละบุคคลก็ได้ด้วยเช่นกัน

นักโหราศาสตร์สมัยก่อนจึให้ความสำคัญกับราหูเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นดาวชี้อนาคตของคนเรากันเลยทีเดียว

สำหรับเกตุ (ราหูใต้) จะเป็นแสดงถึงแรงผลักดันซึ่งหนุนอยู่เบื้องหลัง (เป็นภาวะที่ตรงข้ามกับราหู) เกตุเป็นตัวแทนของพื้นฐาน ทรัพยากรที่มี เป็นคุณสมบัติพื้นฐานทางจิตใจที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด มันเชื่อมโยงโดยตรงกับความทรงจำ จิตใต้สำนึก และประสบการณ์ทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นเกตุจึงมีความเกี่ยวข้องกับ “อดีต” โดยตรง เป็นแรงผลักดันอันสืบเนื่องจากอดีต บางครั้งก็จะตีความความว่าเป็น “อดีตชาติ” หรือเป็นภาระกิจบางอย่างที่ค้างคาจากอดีตชาติและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสะสางในชาตินี้

โดยรวมแล้วเราอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของคนเรานั้นได้รับพื้นฐานอันเป็นนามธรรมมาจากเกตุ เพื่อที่จะมุ่งหน้าไปสู่ราหูซึ่งเป็นแรงปรารถนาที่เป็นรูปธรรม

สำหรับสำนักยูเรเนี่ยน ราหูกับเกตุมักถูกมองรวมกันอย่างรวบยอด(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้ดวงชะตาแบบทดรอบองศา) โดยราหูจะเป็นเรื่องของพันธะ ความสัมพันธ์ ความผูกพันห่วงหาอาธรซึ่งเจ้าชะตามีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว

ส่วนโหราจารย์ไทยหรืออินเดียมักมองราหูและเกตุไปในเรื่องของความลุ่มหลงมัวเมาต่ออะไรบางสิ่ง ราหูนั้นท่านว่าหลงรูป ในขณะเกตุนั้นท่านว่าหลงนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น