ยังมีปัจจัยอีกประเภทหนึ่งที่นักโหราศาสตร์ปัจจุบันนิยมใช้ โดยเป็นปัจจัยที่เกิดจากการผสมจุดต่างๆเข้าด้วยกันโดยการคำนวณ
เมื่อเราศึกษาต่อไปถึงเรื่องมุมสัมพันธ์จะทราบว่า จุดสามารถสัมพันธ์กับจุดด้วยกันได้ โดยอาศัยมุมสัมพันธ์ คือเมื่อมี 2 จุดใดๆ ทำมุมที่มีความหมาย(ในทางโหราศาสตร์)ต่อกัน ความหมายของ 2 จุดก็จะถึงกัน โดยมีความหมายของมุมเป็นตัวเชื่อม
นอกจากนี้ 2 จุดใดๆยังสามารถสัมพันธ์กันได้ด้วยวิธีการหาจุดกึ่งกลางระหว่าง 2 จุด เราเรียกจุดกึ่งกลางระหว่าง 2 จุดนี้ว่า “ศูนย์รังสี” (midpoint)
ตัวอย่างเช่นตรงกลางระหว่างจุด a กับจุด b เขียนแทนด้วย A/B มีสูตรคำนวณคือ A/B=(A+B)÷2 โดย a และ b คือตำแหน่งของจุดในจักราศี
เนื่องจากจักราศีเป็นวงกลม จุดที่ได้จากการคำนวณอาจจะเป็นจุด c หรือจุด d ก็ได้(ดูภาพประกอบด้านซ้าย) โดยถือ 2 จุดนี้มีน้ำหนักเท่ากัน
เราเรียกจุดที่เกิดจากการคำนวณตรงนี้ว่าศูนย์รังสีโดยตรง (Direction Midpoint)
นอกจากจุดที่เกิดจากคำนวณโดยตรงแล้ว ยังนับจุดที่ทำมุมสัมพันธ์ในชุดฮาร์โมนิคที่ 4, 8 และ 16 ( บางคนใช้ถึง 32) กับศูนย์รังสีโดยตรงเป็นศูนย์รังสีด้วย เรียกว่าศูนย์รังสีโดยอ้อม (Undirection Midpoint)ซึ่งในทางปฏิบัตินิยมใช้เพียงชุดฮาร์มอนิกที่ 8 ( คือชุดมุมที่เป็นจำนวนเท่าของมุม 45 องศา)
ศูนย์รังสีโดยอ้อมเป็นจุดที่มีน้ำหนักน้อยกว่าศูนย์รังสีโดยตรง ในรูปตัวอย่าง จุด E กับจุด f ทำมุมฉากกับจุด C, D ส่วนจุด G, H, I และ J ทำมุม 45 หรือ 135 กับจุด C และ D ทั้งหมดนี้ (E, F, G, H, I, J) เรียกว่าศูนย์รังสีทั้งสิ้น (แต่เป็นศูนย์รังสีโดยอ้อม)
ดังนั้นจากตัวอย่างศูนย์รังสีของ อังคาร/พฤหัสบดี (MA/JU) จึงเท่ากับ
MA/JU = C, D, E, F, G, H, I, J
หมายความว่าศูนย์รังสีระหว่างสองจุดใดๆ จะมี 8 จุด โดยมีจุดที่มีน้ำหนักมากอยู่เพียง 2 จุด
และทั้ง 8 จุดนี้ยังไม่ทำให้เกิดความหมายขึ้นในดวงชะตาเพราะยังไม่ครบองค์ประกอบ ต่อเมื่อมีจุดหรือดาวอีกดวงหนึ่งมากุมเข้ากับจุดเหล่านี้ ก็จะเกิดโครงสร้างที่เรียกว่าดาวเข้ารูปแบบ 3 จุด (Three Factor Planetary Pictures)
จากภาพตัวอย่าง(ขวา) มีดาวพุธมากุมกับศูนย์รังสีโดยตรง และมีดาวเสาร์มากุมกับศูนย์รังสีโดยอ้อม เกิดเป็นโครงสร้างพระเคราะห์เข้ารูป 2 ชุดคือ MA/JU = ME และ MA/JU = SA
เกิดโครงสร้างดังนี้เราจึงสามารถแปลความหมายได้โดยความหมายของ 3 ปัจจัยที่ประกอบมาผสมกัน (ด้วยสมการ A/B=C หรือก็คือ A+B-C นั่นเอง)
การแปลความหมายของดาวพระเคราะห์เข้ารูป จะใช้จุดหนึ่งเป็นหลัก(โดยทั่วไปจะใช้จุดที่เป็นแกน) แล้วใช้อีก 2 จุดเป็นตัวขยาย หรืออาจจะใช้ 2 จุดมาผสมกันก่อนแล้วค่อยขยายด้วยจุดที่ 3 ก็ได้
การแปลงนี้ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดนัก แม้บางท่านจะพยายามสร้างหลักเกณฑ์ขึ้นมา แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงแล้วการแปรก็มักจะไร้รูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับบริบทเป็นสำคัญ
:)
เรียบเรียงจากหนังสือ "โหราศาสตร์สากลร่วมสมัย" เขียนโดย อ.กาลจักร
:)