วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ค่าวังกะของ Reinhold Ebertin

โดยมาตรฐาน ยูเรเนี่ยนใช้ค่าวังกะสำหรับปัจจัยเดี่ยวและศูนย์รังสี = 1 องศา 

และลดลงเหลือ 0.5 องศาในมุมเล็ก (มุมในกลุ่ม 22:30 องศา)

แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจริงก็มักมีการอนุโลมให้ใช้ค่าวังกะได้มากกว่านี้ในหลายๆ กรณี (ค่าวังกะที่แคบให้ผลชัดเจน แต่บางทีก็ทำให้มีดาวสำหรับการอ่านดวงน้อย ไม่พอสำหรับการให้คำตอบ)

สำหรับค่าวังกะต่อไปนี้ เป็นค่าที่ถูกกำหนดโดย Reinhold Ebertin เจ้าสำนัก Cosmo-Biology ซึ่งเป็นศิษย์เก่าสำนักยูเรเนี่ยนแล้วแยกตัวออกไป โดยดึงเอาหลักการหลายอย่างของโหราศาสตร์สากลที่ยูเรเนี่ยนยกเลิกไปแล้วกับมาใช้ใหม่

โดยค่าวังกะเหล่านี้ใช้สำหรับอ่านดาวเดี่ยวต่อดาวเดี่ยวเท่านั้น ประกอบไปด้วย

--------------------------------

จุดเจ้าชะตา MC AS SU MO NO = 5 องศา

ดาวเคลื่อนที่เร็ว ME VE MA = 4 องศา

ดาวเคลื่อนที่ช้า JU SA UR NE PL = 3 องศา

--------------------------------

สังเกตว่าไม่มีดาวทรานเนปจูน เพราะสำนัก Cosmo-Biology ตัดทรานเนปจูนออกจากระบบของตนเอง โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าทรานเนปจูนเดินช้ามาก ควรใช้ค่าวังกะเพียง 2-1 องศาก็พอ

จำง่ายๆว่า 543 ครับ เรียงจากจุดเจ้าชะตา เดินเร็ว แล้วก็เดินช้า

โดยส่วนตัวแล้วผมใช้ค่าวังกะ 1 องศาเป็นหลักตามมาตรฐานของยูเรเนี่ยน แต่ถ้ามีดาวอ่านได้น้อย หรือมีดาวที่น่าสนใจอยู่ในระยะที่เกินไปซักนิด ก็ค่อยอนุโลมใช้ค่าวังกะที่มากขึ้น


:)

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เรียนยูเรเนี่ยน เริ่มอย่างไรดี?

 

ถามว่าจะเริ่มเรียนยูเรเนี่ยน ควรเริ่มต้นอย่างไรดี? 

ขอตอบด้วยความจริงใจว่า ไปหัดท่องจำความหมายของ 22 ปัจจัยมาให้ได้ก่อน รวมถึงฝึกเขียนสัญลักษณ์ของปัจจัยทั้งหมดให้คล่องมือด้วย

ถ้าตรงนี้ยังไม่ได้ บอกตรงๆ อย่างเพิ่งไปเสียตังเรียนที่ไหน เพราะจะไปได้ช้า เสียเวลา ดีไม่ดีเจอคนสอนเร็วๆ จะเรียนไม่รู้เรื่องตามคนอื่นไม่ทัน

แต่ถ้าได้ตรงนี้ก่อนเป็นพื้น การเรียนยูเรเนี่ยนก็จะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะยูเรเนี่ยนนั้น วันๆ จะอยู่แต่กับสิ่งที่เรียกว่าภาษาดาว ไม่รู้ว่าดาวไหนแปลว่าอะไรได้บ้างก็ไปไม่รอด

และถ้าเป็นไปได้ ขอให้ฝึกเอาความหมายปัจจัย 2 ตัวมาผสมกันเหมือนเกมส์ผสมคำ ยิ่งคล่องตรงนี้จะยิ่งไปเร็วมาก

พื้นฐานพวกนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก และควรฝึกกันเองที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาในห้องเรียน

ดวง Return

 

ดวง Return ก็คือดวงครบรอบ หมายถึงปัจจัยหนึ่งบนท้องฟ้าโคจรกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมในดวงกำเนิด

เช่นดวง Solar Return ก็คือดวงอาทิตย์ครบรอบ อาทิตย์จรบนฟ้ากลับมาอยู่ในตำแหน่ง(องศา/ลิปดา)เดียวกับอาทิตย์ในดวงกำเนิดอีกครั้ง หรือ Lunar Return ก็คือดวงจันทร์ครบรอบ จันทร์จรบนฟ้ากลับมาอยู่ในตำแหน่ง(องศา/ลิปดา)เดียวกับจันทร์ในดวงกำเนิดอีกครั้ง เช่นนี้เป็นต้น

ดวง Solar Return ใช้ในการอ่านเหตุการณ์จากรอบ Return นี้ไปถึง Return ต่อไป ก็ตกประมาณปีนึงพอดีเพราะอาทิตย์จรรอบจักราศีหนึ่งรอบก็ 1 ปีพอดี ส่วน Lunar Return ใช้อ่านเหตุการณ์รายเดือน

ความจริงนอกจาก Solar และ Lunar Return เรายังอาจจะสร้างดวงอะไรต่อมิอะไร Return ได้อีกมากมาย เช่น Meridian Return (หรือ Ascendant Return) สำหรับพิจารนารอบรายวัน Venus Return ตามรอบดาวศุกร์เพื่อดูจังหวะความรักตามรอบโคจรของดาวศุกร์ซึ่งกินเวลาประมาณรอบละเกือบปี หรือ Jupiter Return เพื่อดูราย 12 ปี เช่นนี้เป็นต้น

การตั้งดวง Return นี้โดยมากใช้โปรแกรมหาเอา สำหรับการตั้ง Solar และ Lunar Return นั้นไม่ยากเพราะโปรแกรมส่วนมากจะมีคำสั่งในการหาไว้บริการพร้อม ส่วนการหา Return อื่นๆ อาจใช้วิธีค่อยๆ กดเลื่อนเวลาจรไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เวลาที่ปัจจัยจรมีองศาลิปดาเท่ากับปัจจัยกำเนิดพอดี

สำหรับการอ่านดวง Return นั้นไม่ยุ่งยาก เพราะใช้วิธีการอ่านโดยไม่ต้องอ้างอิงถึงดวงกำเนิดเสียธีเดียว วิธีการอย่างนี้ความจริงก็คือการอ่านดวงแบบ Horary (กาลชะตา) อย่างหนึ่ง บางอาจารย์ให้ข้อสรุปว่าดวง Return นี้ก็คือดวงกำเนิดอย่างหนึ่ง แต่เป็นดวงกำเนิดที่มีอายุใช้งานจำกัดตามรอบของปัจจัยนั้นๆ (รายปี รายเดือน รายวัน อะไรก็ว่ากันไปแล้วแต่อะไร Return) การอ่านจึงสามารถทำได้เหมือนกับอ่านดวงกำเนิดทุกประการ

แต่ถ้าจะอ่านโดยเทียบกับดวงกำเนิดด้วยก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด โดยมากมักให้ความสำคัญเฉพาะปัจจัยที่มันกุม เล็ง หรือฉากพอดี หรือจะลงรายละเอียดกันไปมากกว่านี้ก็คงแล้วแต่สไตล์การอ่านดวงของแต่ละคน

จังหวะ Return นี้อาจารย์บางท่านว่าน่าสนใจกว่า(ดีกว่า)การอ่านดวงกำเนิดเทียบจังหวะฟ้าทั่วไป (เช่น Newmoon Fullmoon หรือดวงสงการนต์ทั้ง4) เพราะถือว่าเป็นจังหวะสำคัญที่มีความ “เฉพาะ” สำหรับตัวเจ้าชะตามากกว่า


:)