วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

พฤัสจักรกับจักราศี

โหราศาสตร์จีนนั้นใช้ปฏิทินระบบสายนะ (ปฏิทินฤดูกาล) เวลาปัจจุบันนี้ (01/31/2564) สำนักที่ผมเรียนมาเขาผลัดปีในวันเหมายัน เพราะฉะนั้นขณะนี้จึงเป็นปี ทอง-ฉลู ช่วงเวลาต้นๆปี (สำนักที่ผลัดปีวันตรุษจีนเขายังไม่เปลี่ยนปีกัน ยังเป็นปี ทอง+ชวด อยู่)

วงรอบพฤหัสจักร (ลักจั๊บกะจื้อ) นั้นคงวงโคจรที่ดาวพฤหัสจักรเดินทางครบ 1 รอบจักราศี

ดังนั้น 60 รหัสของวงรอบพฤหัสจักรความจริงก็คือจักราศีในระบบสากลนั่นเอง

ในขณะที่เขียนบทความนี้ ดาวพฤหัสในปฏิทินระบบสายนะอยู่ในตำแหน่งราศีกุมภ์ 9 องศา 58 ลิปดา เราตีง่ายๆว่า 10 องศาก็ไม่น่าเกลียดมาก

ลองเอาตำแหน่งนี้ไปเทียบตำแหน่ง ทอง-ฉลู ในวงพฤหัสจักร (ซึ่งความจะเป็นช่วงต้นๆ เพราะเพิ่งผลัดไปไม่นาน)เทียบกับแหน่ง 10 องศาราศีกุมภ์ที่ดาวพฤหัสสถิต ก็ะได้ตำแหน่งดังในภาพ

หมายเหตุ - ภาพนี้จักรราศีจะถอยหลังวนตามเข็ม เพราะพฤหัสจักรวงนอกผมเขียนเป็นวนตามเข็ม(เป็นเหตุผลส่วนตัวตอนทำจานคำนวณ เพราะวงนี้ตัดมาจากจานคำนวณที่สร้างขึ้นเอง) ด้วยความขี้เกียจแก้วงพฤหัสจักรให้เวียนทวนเข็ม เลยทำจักราศีวิ่งถอยหลังเอาง่ายกว่า -_-

จะพบว่าตำแหน่ง ไม้+ชวด ซึ่งเป็นรหัสแรกของพฤหัสจักรมันตรงกับ 0 องศาราศีกรกฏพอดี

ซึ่งโหรฝรั่งนิยมตั้งกรกฏเป็นราศีแรก ต่างจากหลักนิยมบ้านเราที่มาตั้งหลักกันตรงราศีเมษ

ก็ยิ่งชัดเจนว่าวิชาปาจื่อนั้น เป็นโหราศาสตร์ระบบสายนะแน่ๆ แม้แต่จุดตั้งต้นจักรราศีก็เป็นจุดเดียวกัน ไม่ใช่มั่วขึ้นมาลอยๆ

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

ที่มาของเรือนชะตาสะท้อน

 

มีวิธีง่ายกว่าจำตัวเลขเรือน

การสะท้อนของ Witte จะเป็นการสะท้อนบนแกนมุมฮาร์โมนิคที่ 8 ทั้งหมด

เรือนอาทิตย์ สะท้อนแกน 0 องศา จากอาทิตย์

เรือนเมอริเดียน,จันทร์ สะท้อนแกน 90 องศา จากเมอริเดียน,จันทร์

เรือนลัคนา,ราหู สะท้อนแกน 45 องศา จาก ลัคนา,ราหู (2 สะท้อน 2, 8 สะท้อน 8)

เรือนเมษ สะท้อนแกน -45 องศา จากเมษ (กุมภ์ สะท้อน กุมภ์, สิงห์ สะท้อน สิงห์)

แต่ถ้ายังรู้สึกยากไป มีวิธีง่ายกว่า

ตั้งเรือนจุดเจ้าชะตา(อะไรก็ได้)ก่อนเป็นอันดับแรก ดาวเคราะห์(ที่ไม่ใช่จุดเจ้าชะตา) อยู่เรือนไหน ? ให้หมุนไปตั้งเรือนดาวนั้น ๆ (ใช้จุด Index อาทิตย์ตั้งเรือนดาวเคราะห์) จุดเจ้าชะตาตั้งต้นจะอยู่ในเรือนคู่สะท้อน

เช่น ตั้งเมอริเดียน ศุกร์อยู่เรือน 2 หมุนไปตั้งเรือนศุกร์ เมอริเดียนอยู่เรือน 11 (เรือนเมอริเดียน 2 สะท้อน 11)

ตั้งราหู พฤหัสอยู่เรือน 1 หมุนไปตั้งพฤหัส ราหูอยู่เรือน 3 (เรือนราหู 1 สะท้อน 3)

-------------------------------

หมายเหตุ 1 : พอเข้าใจแบบนี้ วิธีการอ่านเรือนสะท้อนของยูเรเนียน จะคล้าย ๆ ทฤษฎีเรือนชะตาอนุพันธุ์ (Derivative Houses) ของโหราศาสตร์สากล อ่านดาวผสมดาว+เรือนผสมเรือน

-------------------------------

หมายเหตุ 2 : การกำหนดเรือนของ Witte (คหสต.) สันนิษฐานว่ายึดแก่นปรัชญาของเรื่องการสะท้อนของราศี Antiscia และ Contra-Antiscia เพราะเป็นการเติมให้เต็มของธาตุ และลำดับศักดิ์อย่างลงตัว

เช่นแกน Antiscia ราศีกรกฎ (น้ำ,ต้นธาตุ) สะท้อน ราศีมิถุน(ลม,ปลายธาตุ) / ราศีสิงห์ (ไฟ,กลางธาตุ) สะท้อน ราศีพฤษภ (ดิน,กลางธาตุ) ฯลฯ

แกน Contra-Antisica ราศีเมษ (ไฟ,ต้นธาตุ) สะท้อน ราศีมีน (น้ำปลายธาตุ) / ราศีพฤษภ (ดิน,กลางธาตุ) สะท้อนราศีกุมภ์ (ลม,กลางธาตุ) ฯลฯ

สรุปง่าย ๆ คือ เอาธาตุไม่เกื้อหนุนกัน และลำดับความแรงธาตุที่ต่างกันมาเติมเต็ม (ธาตุแรง+ธาตุอ่อน,ธาตุกลาง+ธาตุกลาง) เป็นเรื่องของการเติมให้เต็มเพื่อนำไปสู่ความสัมบูรณ์ (หรือสมดุล) คล้าย ๆ ปรัชญาทวิภาคที่ปรากฏในหลายวัฒนธรรม เช่นหยิน-หยาง,บวก-ลบ, ชาย-หญิง

-------------------------------

หมายเหตุ 3 : ถ้าค้นหาประวัติโดยทั่วไปของเรื่อง Antiscia และ Contra-Antiscia ส่วนใหญ่จะเจอแบบหลายที่มา หลายตำนาน บ้างก็ว่ามาจาก Counter Degree บนจักรราศี ของช่วงระยะเวลากลางวัน-กลางคืน 

( คู่วันที่ อาทิตย์ สะท้อนองศาบนแกน Antiscisa จะมีกลางวันยาวนานเท่ากันทั้งคู่ รวมถึงกลางคืนก็จะยาวเท่ากันทั้งสองวัน / คู่วันที่ อาทิตย์ สะท้อนองศาบนแกน Contra-Antiscisa กลางวันของวันหนึ่ง จะยาวเท่ากับกลางคืนของอีกวันหนึ่ง) 

และก็สันนิษฐานว่าคนโบราณน่าจะคิดทฤษฎีสะท้อนกันมาตั้งแต่สถาปนารูปจักรราศีแล้ว (คือมันลงตัวหมด ทั้งราศี ระบบธาตุ และ คุณะ)

แกนสะท้อนหลัก ๆ แบบ Classical Astrology มี 2 แกน (0 องศา, 90องศา) พอมาเป็นเรือนชะตา Witte จะมีเพิ่มการสะท้อนที่ 45 องศา

**เรื่อง Counter Degree สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้อีกในเรื่องโค้ง V1, V2**

-------------------------------

หมายเหตุ 4 : ถ้านำแนวคิดในหมายเหตุ 2 มาพิจารณาการกำหนดเรือนชะตาของ Witte จะสอดคล้องและมีน้ำหนักมากที่สุด เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งในความหมายของเรือน และ จุดเจ้าชะตา มันจะมีลักษณะตรงข้ามกันทั้งหมด ซึ่งดูยังไงก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ (ดูมีความตั้งใจเกินกว่าจะบังเอิญ) 

เช่น อาทิตย์ ที่แปลว่าผู้ชาย, สามี, บิดา ถูกนำไปเป็นจุดตั้งต้นในเรือนที่ 4 ที่สามารถแปลว่า มารดา บ้าน ครอบครัว

จันทร์ ที่แปลว่า ผู้หญิง, ภรรยา, มารดา ถูกนำเป็นจุดตั้งต้นในเรือนที่ 10 ที่แปลว่า บิดา สถานภาพชีวิต ผู้ปกครอง(ในวัยเด็ก)

ราหู ที่แปลว่า ความสัมพันธ์ หรือคนสนิทที่ผูกพันธ์ (ตามเซนส์โดยทั่วไปมันควรจะเป็นเรือนที่ 7) ถูกนำไปเป็นจุดตั้งต้นของเรือนที่ 1

เมษ ที่แปลว่า ใด ๆ ในโลก สาธารณชน สิ่งรอบตัวที่ไม่ได้ผูกพันธ์ลึกซึ่ง (เทียบได้กับเรือนที่ 1) ถูกนำไปเป็นจุดตั้งต้นของเรือนที่ 7

ส่วนเรื่อง เมอริเดียน&ลัคนา คงสภาพเรือนไว้ตามกลไกท้องฟ้าปกติ คือเรือนที่ 10 และ 1 ตามลำดับ

-------------------------------

หมายเหตุ 5 : อ.ประยูร เคยกล่าวถึงปรัชญาการเติมเต็มของ วิทยาศาสตร์, ศาสนา, ศิลปะ ไว้ดังนี้

วิทยาศาสตร์ คือ กาย + วิญญาณ (ละเอียดปานกลาง) แสวงหา จิต

ศาสนา คือ จิต + วิญญาณ (ละเอียดสุด) แสวงหา กาย

ศิลปศาสตร์ คือ กาย + จิต (หยาบสุด) แสวงหา วิญญาณ

อ่านแล้ว ค่อนข้างสอดคล้องกับปรัชญาสะท้อน Antisicia, Contra-Antiscia มาก ๆ

-------------------------------

หมายเหตุ 6 : ทฤษฎีเรือนของ Witte หลายอย่างยังคงเป็นปริศนา เพราะไม่หลงเหลือเอกสารอ้างอิงใด ๆ เลย ในการกำหนดปรัชญาสะท้อนของเรือนชะตาแบบนี้ 

ขนาดเอกสาร 41 หน้า Meaning of the planets in the houses (The theory of the houses according to Witte) โดย Ludwig Rudolph ก็บอกแต่วิธีใช้ แต่ไม่บอกปรัชญาที่มาที่ไปแบบที่ผมกล่าวไว้ในหมายเหตุเลย 

ส่วนใหญ่เป็นข้อสังเกตส่วนตัวของผม และคำบอกเล่าจาก อ.วิโรจน์ กรดนิยมชัย ในคลาสเรียน ซึ่งถ่ายทอดมาจาก อ.ประยูร อีกที แต่ไม่ได้เขียนไว้เป็นทฤษฎีทั่วไป (อ.ประยูร เสียชีวิตก่อนจะเขียนเสร็จ) 

ซึ่งก็คาดว่า อ.ประยูร ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจาก Ludwig และ Witte เหมือนกัน 

เพราะฉะนั้นที่ผมเขียน ใช้เป็นข้อสังเกตุได้ ประยุกต์ใช้งานได้ (ในการมองภาพการสะท้อน ไม่ต้องจำตัวเลข) แต่อย่ายึดเป็นทฤษฎีเอาเป็นเอาตายขนาดนั้น ยังมีช่องว่างให้อีกหลายคนไปค้นคว้าต่อได้

ป.ล. ลองเอาตัวเลขคู่เรือนสะท้อนของเรือนจุดเจ้าชะตาแต่ล่ะแบบมาบวกกันสิ แล้วจะเจอความมหัศจรรย์ทางคณิตศาสตร์

-------------------------------

เขียนบทความโดย : Peerintiwat Intra-nog

-------------------------------

ขอบคุณท่านเจ้าของบทความนี้มากครับ


:)

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

ถูกยิง ตาบอด เมียตาย 2

 

ดวงชะตาคนที่ถูกยิงจนตาบอดดวงเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือมาตั้งเป็นดวงราศีจักรระบบเกษตรเรือนเดี่ยว

เจ้าชะตาเกิด 15/04/2465 เวลา 10.40.00 กทม. ส่วนเหตุโดนยิงนั้นเกิด 02/05/2514 เวลา 10.55 โดยประมาณ

ดวงชะตานี้เจ้าชะตาเพศชาย อาทิตย์ตัวแทนเจ้าชะตาเป็นอุจจ์สว่างไสวโดดเด่นอยู่ในเรือน 11 ลาภะร่วมพุธและศุกร์(แม้มีเนปจูนและเกตุไทยฉากอยู่) ส่วนจันทร์ตัวแทนคู่ครองเป็นนิจเหี่ยวเฉาอยู่ในเรือน 6 อริ

เจ้าเรือน 7 ปัตตนิคู่ครองคือพฤหัส ไปอยู่เรือน 4 พันธุร่วมเสาร์กับราหู

เรือน 7 นั้นนอกจากจะหมายถึงคู่ครองแล้วยังหมายถึงศัตรูเปิดเผยได้ด้วย ที่เรือน 7 นี้มีอังคาร ถ้านิยามเรือน 7 ว่าเป็นศัตรูเปิดเผย ศัตรูซึ่งหน้าแล้วรับลองเลยว่าเจ้าจะตาจะได้เจอคู่อริประเภทอังคารของแข็งแน่ๆ ดีไม่ดีจะเจอคนมีสี

ยิ่งอังคารนี้เจ้าเรือน 6 อริก็ยิ่งชัดเจนว่าของแข็งแน่ๆ

เรือน 8 มรณะมีเจ้าเรือนคือเสาร์ไปอยู่ร่วมอังคารเจ้าปัตตนิในเรือน 4 (โปรดอย่าลืมว่าเรือน 4 นอกจากจะหมายถึงบ้าน หมายถึงฮวงซุ้ยก็ได้ด้วย) ส่วนในเรือน 8 นี้มีเกตุไทยเจ้าเรือน 1 (เป็นเจ้าเรือนร่วมกับราหู)

ย้อนกลับไปที่เรือน 1 ลัคนาร่วมพลูโตกับแบคคัส

พลูโตนี้โหรหลายท่านไม่ค่อยชอบ เพราะคือพระยม(ก็ยมบาลนั่นแหละ) โหรสากลถือว่าพลูโตคืออำนาจเผด็จการ ส่วนยูเรเนี่ยนว่าพลูโตคือความเปลี่ยนแปลงประเภททุบทิ้งแล้วสร้างใหม่

มองในแง่บุคลิกคือความเป็นนักคิดสร้างสรรค์ นักปรกครองที่เผด็จการ แต่มองในแง่สังขารนี่ไม่ดีแน่ ทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่อาจดีต่อบ้านแต่ไม่ดีกับสังขารคนแน่ๆ

แบคคัสที่ร่วมอยู่มาจากเรือน 12 วินาศน์ ก็ยิ่งชัดเจนว่าไม่ดี มีทรัพย์สมบัติต้องมีลับๆล่อๆ มีเปิดเผยเมื่อไหร่ก็วินาศน์ตามชื่อของมัน

ดวงนี้ลัคน์วิ่งเข้าหาเนปจูนด้วย เนปจูนี้เจ้าเรือน 10 คือเจ้าชะตาดิ่นรนวิ่งไปหาความมีเกียรติ แต่เนปจูนก็คือเนปจูน เสื่อมสลาย ไม่จีรัง เหมือนภาพหลอนในทะเลทราย

ช่วงเวลาที่เกิดเรื่องนั้น พฤหัสจรเจ้าเรือน 7 มาร่วมเนปจูน(ซึ่งเป็นอุจจ์เครื่องกำลังแรง)ในเรือน 6 อริ (ซึ่งมีจันทร์กำเนิดรอเดิม)

ส่วนอังคารเจ้าเรือน 6 จรไปร่วมราหู(เจ้าเรือน1) ในเรือน 8 มรณะ ส่วนเสาร์เจ้าเรือนมรณะจรไปเรือน 11 อย่าลืมว่าที่เรือนนี้มีอาทิตย์กำเนิดสถิตอยู่

ก็เป็นอย่างที่เคยเขียนถึงไปแล้วว่าเจ้าชะตานั้นถูกถล่มยิงเละเทะ ภรรยานั้นตายคาที่ ส่วนเจ้าชะตาถึงรอดมาได้ชีวิตกำลังบากเต็มทีเพราะเสียตาไปทั้งสองข้าง (ช่วงเวลาที่เกิดเหตุเรือน 3 การเดินทางมีเกตุไทยจรสถิตอยู่)

ก็อย่างที่เคยเขียนถึงไปในครั้งโน้นว่า อาทิตย์และจันทร์หมายถึงดวงตาได้ด้วย(จะหญิงซ้ายชายขวาก็ช่าง) ดวงนี้ตอนเกิดปรากฏเหตุจันทร์เดิมเจอกับเนปจูนจร ส่วนอาทิตย์ซึ่งอยู่เรือน 11 นั้นเจอเสาร์จร 

แม้ว่าเสาร์จรในตำแหน่งนี้จะเป็นนิจเหี่ยวเฉาอ่อนกำลังแต่เสาร์ก็คือเสาร์ ยิ่งเสาร์นี้เจ้าเรือน 8 มรณะด้วยก็ยิ่งดุ

ก็โดนครบกันไปทั้งอาทิตย์และจันทร์ 

:)

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564

ถูกยิง ตาบอด เมียตาย

ดวงชะตานี้ได้มาจากหนังสือ โหรกรุงพาราณสี(เล่ม2)ของ อ.ชัยเมษฐ์ เชี่ยวเวช ท่านว่าเจ้าชะตาเป็น สส. ถูกดักยิงขณะเดินทางด้วยรถยนต์ เมียตาย ส่วนตัวเองบาดเจ็บสาหัสจนตาบอดทั้งสองข้าง เริ่งนี้เกิดนานมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2514 โน่น

ดวงนี้เจ้าชะตาเกิด 15/04/2465 เวลา 10.40.00 กทม. ส่วนเหตุโดนยิงนั้นเกิด 02/05/2514 เวลา 10.55 โดยประมาณ

เราจะมาอ่านดวงนี้ด้วยยูเรเนี่ยนกัน ว่ามันจะยังไงในมุมมองของยูเรเนี่ยน

เรื่องของดวงตานั้น ตำราท่านว่า SU คือตาขวาของผู้ชายและคือตาซ้ายของผู้หญิง ในขณะที่จันทร์นั้นจะหมายถึงตาซ้ายของผู้ชายและตาขวาของผู้หญิง

จากประสบการณ์แล้ว เรื่องซ้ายๆขวาๆนี่มันก็ไม่เสมอไป แต่ความหมายที่ว่าอาทิตย์และจันทร์หมายถึงดวงตานั้นมักใช้การได้ (ปีที่ผมสายตาแย่จัดๆ แบบรู้สึกได้ว่ามันเริ่มหายนะแล้ว ก็คือปีที่ HA โค้งวิ่งกุม SU กำเนิด ซึ่งไม่ได้แย่แต่ตาขวาหรอก ก็แย่ทั้งสองตานี่แหละ)

ดวงนี้พื้นชะตา KR ถึง AS ในมุมอ่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ถึง SA ด้วย นอกจากนี้ถ้าดูในระดับศูนย์รังสีก็จะพบว่า KR = SU/NE = AR/VU = HA/VU เข้าตำรายิ่งสูงยิ่งตกลงมาแรง

ความจริงถ้านั่งไล่ดูพื้นชะตากำเนิดไปเรื่อยๆ ทีละแกนก็จะพบข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตโดยทั่วไปของเจ้าชะตามากมาย แต่ขอละไว้ก็แล้วกันไม่งั้นจะยือยาวเกินไป

สำหรับจุดที่มีความหมายว่าการยิงปืนหรือการถูกยิงด้วยอาวุธปืนนั้น ที่ใช้บ่อยๆ อยู่ 2 อย่างคือ MA/ZE และ UR/ZE

ลองตั้งที่ MA/ZE ในดวงกำเนิดจะพบว่า MA/ZE = JU = UR ในมุมอ่อน

เฉพาะ MA/ZE = JU นี่น่าสนใจเพราะแปลว่ามีโชคจากการถูกยิง? จะแปลอย่างนี้ก็ฟังดูแปลกชอบกล ดังนั้นแปลว่ารอด(โชคดี)ตายจากการถูกน่าจะถูกเรื่องกว่า ส่วน MA/ZE = UR นั้นแปลว่าถูกยิงโดยฉับพลัน หากดูในระดับศูนย์รังสีจะพบว่า MA/ZE = SU/HA ก็แปลง่ายๆ ว่าถูกยิงพิการนี่แหละ

สำหรับ MA/ZE โค้งในปีที่เกิดเหตุนี้ถึง ME(การเดินทาง) และ MA ในดวงกำเนิดพอดี (เกิดเป็นสมการ MA/ZE = MA)

ทีนี้ลองไปตั้งที่ UR/ZE ดูบ้าง จะพบว่าในดวงกำเนิดนั้น UR/ZE = MA ในมุมอ่อน

ส่วน UR/ZE ในดวงโค้งจะพบว่า = NO = PL = ZE หากดูในระดับศูนย์รังสีจะพบว่า = MO/VE ด้วย ซึ่ง MO/VE นี้แปลว่าภรรยา 

และถ้าไปดูที่ UR/ZE ในดวงโค้ง V2 จะพบว่าถึง = AS = SA = UR =AD  (นั่นหมายความว่า AS, SA, UR, AD ในดวงโค้งล้วนทำมุมถึง UR/ZE ในดวงกำเนิด)

สังเกตว่า MA, UR, ZE มันจะเวียนๆ อยู่แถวนี้แหละ 

ลองตั้ง UR+ZE-MA ในดวงโค้งมันเสียเลยจะพบว่า = MO = HA = VU พอดี (และ = SA/CU ด้วย) ถ้าตั้ง MA+UR-ZE ในดวงโค้งจะพบว่า = JU (และ = SA/MO = AD/VU) หรือถ้าไปตั้งที่ MA+ZE-UR ในดวงโค้งจะพบว่า = MC = NE = CU

รวมความแล้วจะมองมุมไหนก็รอดยากจริงๆ โดยมีหลายจุดที่บ่งชัดว่าเมียนี่น่าจะไปก่อน

ขอปิดท้ายดวงนี้ด้วยการวนกลับไปที่เรื่องของดวงตาก่อนที่จะลืมเรื่องนี้ไปเสียฉิบ หากดูที่ดวงโค้ง เราจะพบว่า SUv1 = UR ในขณะที่ SUv2 = AR = HA ส่วน MOv1 = SA และ MOv2 = MC = NE

ชนเข้ากับปัจจัยร้ายครบทั้ง SU และ MO นั่นแหละ ไม่ต้องมาสงสัยว่าอันไหนตาซ้ายตาขวาให้ยุ่งยาก

:)

Larry king

เมื่อวาน(23/01/2564) มีข่าวว่า แลร์รี คิง (Larry king) พิธีกรรายการโทรทัศน์และรายการวิทยุชื่อดังชาวอเมริกันเสียชีวิตลงด้วยโรคโควิทในวัย 87 ปี

ความจริง แลร์รี คิง เป็นชื่อที่ใช้ในวงการ ส่วนชื่อจริงคือ ลอว์เรนซ์ ฮาร์วีย์ ไซเกอร์ มีผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์นักการเมือง นักกีฬา คนวงการบันเทิง รวมไปถึงผู้คนที่ตกเป็นข่าวดังในช่วงเวลานั้นๆ โดยรวมแล้วมากกว่า 40,000 ครั้ง เขาได้รับรางวัลเอมมี 1 ครั้ง รางวัลพีบอดี 2 ครั้งและ รางวัลเคเบิลเอซ 10 ครั้ง (ข้อมูลจาก wiki) ผลงานนั้นเรียกว่าไม่ธรรมดา

เจ้าชะตาเกิด 19 พฤศจิกายน 2476 บรุกลิน นครนิวยอร์ก ส่วนเวลาไม่ทราบจึงตั้ง 12.00.00 เป็นเวลาสมมุติไว้ก่อน

เปิดดวงขึ้นมาจะเห็น MA ถึงแกนเมษ (มองในจาน 90 จะเห็นว่ากุมกันแต่จริงๆ มันถึงกันด้วยมุม 90 องศา) คือการมีกิจกรรมหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ตนในสังคมหรือประเทศ

นอกจากนี้จะเห็น VE กุมกับ JU และถึง VU ในมุมอ่อน ก็ไม่ต้องแปลใจว่าทำไมลุงแกถึงเคยมีเมียตั้ง 7 คน(มีทีล่ะคนไม่ได้มีพร้อมๆกัน) สำหรับเรื่องนี้ถ้าเราตามไปดูที่ CU ก็จะพบว่า CU= NO/NE = MO/SA = PL/HA = PL/AD = UR/AD =UR/AD เราก็แปลกันรวมๆ แบบายๆ ชีวิตครอบครัวไปไม่ค่อยรอด

ถ้าไปดูที่ -JU ก็จะพยว่าถึง NO และ VU ด้วย

และถ้าไปดูที่แกน AP ซึ่งบ่งบอกถึงความสำเร็จในชีวิตจะพบว่า AP(ความสำเร็จ) = UR(โดยฉับพลัน) = PL(มีพัฒนาการอยู่เสมอ) = PO(ด้วยปัญญา) = AD(ความอดกลั้น) = SA(อดทน) = MO/NO(ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน) = MO/ME(และการพูดคุยกับผู้คน)

ในปีที่เสียชีวิตนี้ SAโค้งถึง MO ในขณะที่ NE โค้งกำลังถึง VU ส่วน UR โค้งถึง AR และ MA

ถ้าเราทดลองตั้งจุดไหวตัว JU+HA-SA ที่แปลว่าโรคปอด เราจะพบว่าในพื้นดวงชะตานี้ JU+HA-SA = VU อยู่แล้ว ส่วน JU+HA-SA ในดวงโค้งก็ถึง NE และ JU/SA ในดวงกำเนิดซึ่งเป็นเหมือนตัวเติมให้สมการนี้แข็งแรงยิ่งขึ้น

และท้ายที่สุดถ้าตั้งสมการ MA+SA-NO ซึ่งเป็นสมการมรณะยอดนิยมในดวงโค้งก็จะพบว่าในปีนี้ถึง NO ในดวงกำเนิดพอดี

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2564

เกณฑ์ทุรทุรา

 

“เกณฑ์ทุรทุรา” นี้ดูไม่ยาก แต่การแปลความหมายอาจมีความลึกซึ้งแตกต่างกันได้สุดแต่ว่าใครจะมีความรู้ด้านพยากรณ์ลึกซึ้งกว่ากัน เนื่องจากจุดนี้เพียงแต่เป็นเกณฑ์ที่บอกให้รู้ว่าดวงชะตานี้ต้องเกณฑ์ทุรทุรานี้เท่านั้น ก็คือ

“การมีเสาร์เป็น 2 หรือ 12 กับลัคนา”

ดวงชะตาใดมีดาวเสาร์นำหน้าลัคนา หรือตามหลังลัคนา อย่างใดอย่างหนึ่งดวงชะตานั้นเรียกว่าต้องเกณฑ์ทุรทุรา

คำว่า “ทุรทุรา” นี้แปลว่า “ยากลำบาก” ดังนั้นเมื่อลัคนาต้องเกณฑ์ลำบากเช่นนี้เข้าก็ย่อมหมายถึงชีวิตของเจ้าชะตานั้นต้องได้รับความเหนื่อยยากไปตามเกณฑ์นี้เอง

นี่เท่ากับเป็นจุดวิบัติอย่างหนึ่งของดวงชะตาที่เราควรเรียนรู้ไว้

แต่ในตำราเกจิอาจารย์ท่านสอนไว้ไม่ได้นำเกณฑ์นี้มาใช้แต่เพียงลัคนาเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้กับดาวลอยอยู่ในดวงชะตานี้ด้วย คือไม่ว่าดาวอะไรทั้งสิ้นถ้าดาวนั้นต้องเกณฑ์ทุรทุรานี้ด้วยแล้วให้ถือว่าเป็นจุดวิบัติด้วยเช่นกัน 

แต่คำว่าวิบัตินี้ถ้าเกิดขึ้นกับดาวก็ดูจะมีความรุนแรงน้อยกว่าเกิดขึ้นกับลัคนา เพราะว่าลัคนานั้นเป็นจุดของชีวิต จึงมีความสำคัญมากกว่าดาวนั่นเอง

ถ้าเกิดกับดาวแล้วความพิบัติที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นไปในทำนองเดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องนั้นๆเสียมากกว่า แต่ก็มีเหมือนกันที่ถึงกับ “วิบัติ” กันเลยจริงๆ แต่สถิติในทางนั้นผมยังมีน้อยอยู่จึงไม่อาจจะถือเอาเป็นหลักได้

ความจริงแล้วมีเรื่องน่าแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า คือ(ตำราว่า)ถ้าเกณฑ์ทุรทุรานี้ไปเกิดกับดาวจันทร์แล้ว ความหมายแทนที่จะร้ายกับกลายเป็นดีไป คือจะทำให้ดวงชะตาผู้นั้นประสบความสุขสมบูรณ์ ชีวิตมีความสุขและอบอุ่น และจะมีความร่ำรวยเจริญรุ่งเรืองดี

ผมเองเคยตรวจดูดวงชะตาที่มีดาวจันทร์ต้องเกณฑ์ทุรทุรานี้หลายดวงแล้ว ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างที่ว่านี้เลย  9 ใน 10 มักได้รับความยุ่งยากเดือดร้อนในชีวิต บางรายแก้ไขความยุ่งยากนั้นไม่ได้จนถึงกับตัดสินใจผิดๆด้วยการทำอัตวินิบาตกรรมก็มี 

ผมจึงไม่เชื่อเกณฑ์ทุรทุราจันทร์นี้ และกลับเห็นว่าการที่ดวงจันทร์ต้องเกณฑ์ทุรทุรานี้จะเป็นโทษแก่ดวงชะตาแต่อย่างเดียวเท่านั้น เพราะอย่างน้อยก็มีอยู่เกณฑ์หนึ่งอยู่ในเรื่อง “ทัศนของดาวจันทร์” ที่บอกว่าเป็นโทษ ถ้าหากว่าตรงหน้าพระจันทร์มีดาวเสาร์อยู่ไม่เกิน 3 ราศี

🙂

เรียบเรียงจากหนังสือ “เคล็ดลับโหร” โดย ศ.ดุสิต

ลัคนาจร


ไม่ว่าระบบไหนจะต้องมีจรปี จรเดือน จรวัน ที่เรียกว่าพยากรณ์หรือการทายอนาคต หรือการทายล่วงหน้า

ในดวงราศีจักรหรือดวงอีแปะ ก็มีจรคือ นับได้อายุเท่าไหร่ โดยให้เริ่มนับเริ่มต้นจากลัคนาเกิดไปปีละ 1 องศา ครบอายุเท่าไหร่ก็หยุดอยู่ที่ราศีนั้น

สมมุติเกิด 23 พ.ค. 2503 เวลา 17.00 ต้องการจะรู้ปัจจุบันหรือในปีนี้คือ 2532 ก็ให้เอาปี 2532 - 2503 = 29 ปี

เริ่มนับลัคนาเดิมที่ราศีตุลย์ (ดูภาพดวงประกอบไปด้วย) เป็นปีที่ 1  แล้วนับราศีพิจิกเป็นปีที่ 2  นับราศีธนูเป็นปีที่ 3  แล้วให้นับต่อไปปีละ 1 ราศีจนครบอายุ 29  ก็จะไปหยุดที่ราศีกุมภ์

ก็หมายถึงว่าลัคนาเดิมนั้นจรไปตามอายุ 29 ปีไปตกอยู่ที่ราศีกุมภ์ซึ่งเป็นเรือนของราหู (เกษตรเจ้าของพื้นที่ตามระบบราศีจักรทั่วไป)

เมื่อทราบว่าลัคนาจรไปตกอยู่ที่ราศีกุมภ์หรือเรือนของราหูแล้ว ก็ให้ติดตามราหูไป สำหรับอายุ 29 ปีนี้เรียกว่าราหูเป็นเจ้าการชีวิตของเจ้าชะตานี้ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ คือเรียกว่าราหูเป็นเจ้ากาลเกษตร 

ในปีนี้เจ้าชะตาอายุ 29 ปี จะดีหรือเสีย ดีมากหรือดีน้อย ก็อยู่ที่ราหู

ในความหมายของราหูซึ่งตรงกับอายุเจ้าชะตา 29 ปีนี้ เจ้าชะตาก็จะมีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นเดี๋ยวเรื่องนั้นเดี๋ยวเรื่องนี้ มีศัตรู มีการเจ็บไข้ได้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล เสียเงินเสียทอง มีเรื่องเดือดร้อนมาถึงตน จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของญาติผู้ใหญ่สูญเสีย หรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรม เช่นอุบัติเหตุ หรือทำให้พี่ๆน้องๆใครต่อใครต้องเสียเงินกันป่นปี้ นี่หมายถึงอิทธิฤทธิ์ของราหู หรือเป็นไปตามสภาวะของราหู (ในเรือน 3) ในทางที่ร้ายเสมอ

 แต่ว่าดีอยู่หน่อยที่ลัคนาจรตกในเรือนปุตตะ ซึ่งนับจากลัคนาเดิมถือเป็นเรือนที่ 5 ไม่ค่อยจะเสียเท่าไหร่นัก ถ้าไปตกในเรือนที่ 6 หรือเรือนที่ 8  หรือไปตกในเรือน 12 จะยิ่งร้ายแรง

ให้ติดตามราหูนี้ไปตลอดทั้งปี  ดูว่าราหู(จรทรายสิต)ไปอยู่ที่ไหนในช่วงอายุ 29 ปีนี้ 

:)

 เรียบเรียงจากหนังสือ “โหราศาสตร์ไทยมาตรฐาน” (บทเรียนครั้งที่ 25)  โดยอาจารย์ ส.ชัยนันทร์

:) 


วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

ไพ่ออราเคิล

ไพ่ออราเคิล (Oracle) นั้นต่างจากไฟ่ทาโรต์ (Tarot) ตรงที่ไม่ได้สร้างขึ้นตามขนบ 

พูดกันตรงๆ ไพ่ออราเคิลนั้นสร้างกันแบบตามใจฉัน หน้าไพ่จะเป็นรูปอะไรก็ได้ หนึ่งสำรับไม่จำเป็นต้องมี 78 ใบ ไม่จำเป็นต้องเป็นชุดเล็กชุดใหญ่ ไม่ต้องมีเหรียญ คฑา ดาบ ถ้อย ไพ่ออราเคิลจะมีกี่ใบยังไงก็ได้ อาจจะไม่กี่สิบใบจนไปถึงร้อยใบขึ้นไป ก็แล้วแต่ผู้ผลิตจะคิดสร้างสรรค์

ด้วยความที่เป็นไพ่ฟรีสไตล์ แน่นอนว่าความสวยงาม หัวเรื่อง หรือแม้แต่ความสามารถในการกระตุ้นจิตหยั่งรู้ของคนอ่านไพ่ แต่ละสำรับเองก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแยบยลของผู้ออกแบบ (รวมถึงจริตของผู้ใช้เองด้วยว่าจะเข้าถึงไพ่ชุดนั้นๆ ได้มากน้อยขนาดไหน)

เนื่องจากการออกแบบไพ่ไม่ยึดตามขนบใดๆ ไพ่ออราเคิลจึงมีจุดเด่นอยู่ตรงที่ผู้พยากรณ์สามารถปล่อยจินตนาการของตนเองให้กว้างใกลออกไปได้โดยไร้ขีดจำกัดใดๆ

ว่ากันตรงๆ คือเห็นรูปบนไพ่แล้วอยากพูดอยากทายอะไรก็ว่ากันไป ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีผิดตำรา มีแต่ว่าจะทายถูกหรือไม่ถูก คนฟังจะพอใจหรือไม่เท่านั้นเอง

"สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย" ... สำนวนนี้น่าจะอธิบายกระบวนการของออราเคิลได้ชัดเจน

ถามว่าไพ่ออราเคิลกับไพ่ทาโรต์อะไรดีกว่ากัน? ก็ตอบว่ามันคนล่ะอย่างกัน เทียบกันไม่ได้ (เหมือนไขควงปากแบนกับสี่แฉก มันคล้ายๆกันแต่ใช้แทนกันไม่ได้) หัวใจที่สำคัญจึงเป็นเรื่องของคนใช้เองว่าจะถนัดหรือมีความสุขที่จะใช้ไพ่แบบไหนมากกว่ากัน

แม้แต่การเปรียบเทียบระหว่างไพ่ออราเคิลด้วยกัน หรือไพ่ทาโรต์ด้วยกันเองก็เถอะ สำคัญที่สุดคือคนใช้ถนัดจะใช้ไพ่สำรับไหน

บางคนชอบสำรับนี้ ไม่ถนัดสำรับนั้น นี่เป็นเรื่องปรกติ (ที่บ้านผมมีไพ่ทั้งออราเคิลและทาโรต์เก็บในตู้หลายสิบกล่อง แต่ใช้จริงๆ ก็ เว็ท-สมิท เจ้าเก่าทุกที -_- )

เชื่อผมเถอะ มันอยู่ที่คน ไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ เพียงแต่คนเองก็ต้องเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับตนเองเท่านั้นเอง

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

เหมือนๆจะดี



ดวงนี้เจ้าชะตาเป็นหญิง โดยเจ้าชะตาไปถามในกรุ๊ปดูดวงฟรีแห่งหนึ่งว่า "ดวงหนูเป็นดวงไร้คู่จริงหรือป่าวคะ?" (อะไรประมาณนี้แหละ)

ความจริงถามกันอย่างนี้ถึงคนไม่ต้องดูดวงเป็นก็คงทายกันได้ไม่ยากว่าคนนี้มีปัญหาเรื่องคู่ครองแน่ๆ หรืออย่างน้อยก็ต้องถูกหมอดูซักคนทักมาแบบนั้นจนเริ่มเสียเซลฟ์แน่ๆ (ถ้าเป็นหมอดูประเภทขายคอสสะเดาะเคราะห์แก้กรรมอะไรแบบนั้นก็หมูวิ่งชนปังตอเลยงานนี้ -_- )

เมื่อตั้งดวงขึ้นมา เราจะเห็น SU = VE =CU = MO(ในมุมอ่อน) 

เฉพาะชุดนี้มีความหมายไปในทางที่ดี ค่อนข้างสวนทางหัวเรื่องที่เปิดเอาไว้ เพราะแปลความโดยรวมหมายถึงเจ้าชะตาเจ้าชะตาเป็นคนลักษณะดี หรืออย่างน้อยบุคลิกต้องมีเสน่ห์ เป็นคนที่จะต้องมีคู่ครองอย่างแน่นอน 

(SU=CO แปลว่าเจ้าบ่าว MO=CU แปลว่าเจ้าสาว SU=VE แปลว่าหนุ่มหล่อหรือร่างกายที่สวยงาม MO แปลว่าสาวสวยหรืออารมณ์ดี ส่วน VE=CU แปลว่าแต่งงาน)

มาถึงตรงนี้อาจรู้สึกว่า มันก็โอเคดีนี่

แต่ถ้าสังเกตุที่ MO จะเห็นว่าถึงกับ HA อยู่ด้วย(ในค่า ORB ที่เยอะซักนิด) เฉพาะ MO/HA นี่แปลว่าแม่ม่าย

ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นข้อมูลเสริมอีกเรื่องที่น่าสนใจในดวงชะตาก็แล้วกัน ก่อนจะปักใจเทคำพยากรณ์ไปทางไหน (ถ้าตั้งแกนที่ MO เราจะพบว่า MO=SA/CU แปลว่า ภรรยาที่ถูกทอดทิ้ง สตรีที่หย่าร้าง แม่หม้าย)

หากตั้งแกนที่ VE จะพบว่ามีศูนย์รังสีร้ายที่ชัดเจนอยู่ 3 คู่คือ UR/NE(เสื่อมสลายฉับพลัน), NO/SA(ผูกพันด้วยความทุกข์) และ HA/PO(โง่เขลาหรือหลงผิด)

และถ้าหากมองลึกลงไปในระดับจุดสะท้อน เราจะพบว่าที่แกน VE นี้ถึง -MA, -HA, -AD (นั่นหมายความว่า MA, HA, AD จริงถึง -VE สะท้อน)

อย่าลืมว่าดวงนี้ VE ถึง CU อยู่แล้วตามธรรมชาติ อะไรที่ถึง VE ก็ถึง CU ไปด้วยโดยปริยาย

เมื่อเรามองเป็นภาพรวม ก็อาจจะสรุปได้ว่าดวงชะตานี้เรื่อความรักเหมือนจะดี สวยหรู มีเสน่ห์ มีคนเข้าหา และได้แต่งงาน แต่สุดท้ายก็พังเพราะมีองค์ประกอบร้ายรุมเร้ามากมาย ถามว่าพังด้วยอะไร? ก็มีคำตอบบอกอยู่แล้วศูนย์รังสีของแกน VE และ CU นี้

ดวงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของคำว่า "อ่านก่อนทายทีหลัง" ที่มักปรากฏอยู่ในตำรายูเรเนี่ยนของอาจารย์รุ่นเก่าๆ เพราะตอนแรกขึ้นเหมือนจะดีแต่อ่านไปอ่านมาก็มีตัวมาทำพังเสียอย่างนั้น

ดูให้รอบก่อนแล้วค่อยทาย ปลอดภัยกว่าแน่นอน 

:) 

ปล. ถ้าเราเอาดวงนี้ไปตั้งแบบราศีจักร-นิรายนะ ก็จะเห็นว่าศุกร์ร่วมเนปจูนในเรือน 11ลาภะ คือมีเสน่ห์ ความรักมาง่าย มาเร็ว แต่มาแล้วสลาย ตามคุณสมบัติเนปจูนที่ร่วมเรือนอยู่ โดยอาทิตย์เจ้าเรือน 7คู่ครองก็ไปตกเรือน 12วินาศน์อีก ก็สอดคล้องกันดีกับที่อ่านในยูเรเนี่ยน

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

จุดสะท้อน

 


การใช้ “จุดสะท้อน” ของปัจจัยในการพยากรณ์ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญประการหนึ่งในวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนี่ยน

คำว่าจุดสะท้อนนี้หมายถึงการที่มี “อีกปัจจัยหนึ่ง” สะท้อนโผล่ขึ้นมาที่อีกฟากของดวงชะตา ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะแกนใดเป็นแกนในการสะท้อน

ยกตัวอย่างเช่นถ้าดาวศุกร์ในดวงชะตาอยู่ในตำแหน่ง 15 องศาราศีกุมภ์(ฟากขวาของดวงชะตา) และมีแกน เมษ-ตุล เป็นแกนสะท้อน มันก็จะเกิด “ดาวศุกร์สะท้อน” ขึ้นที่ตำแหน่ง 15 องศาราศีพฤษภ(ฟากซ้ายของดวงชะตา) 

แต่ถ้าเราใช้แกน กรกฏ-มกร เป็นแกนสะท้อน ดาวศุกร์สะท้อนก็จะไปเกิดขึ้นที่ตำแหน่ง 15 องศาราศีพิจิกแทน

โดยดาวศุกร์สะท้อนที่เกิดขึ้นนี้ จะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับดาวศุกร์จริงทุกประการ แต่ก็นิยมกันว่าดาวสะท้อนนั้นย่อมมีความแรงของอิทธิพลอ่อนกว่าดาวจริงประมาณ 50% (อันนี้เป็นค่าโดยประมาณเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ได้เป็นกฏเกณฑ์ที่ตายตัวแต่อย่างใด)

เช่นถ้ามีดาวเสาร์จรมาทำมุมกับอังคารสะท้อนในดวงชะตากำเนิดโดยไม่ได้ทำมุมถึงอังคารจริงแต่อย่างใด ก็ถือว่าให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับเสาร์จรถึงอังคารจริงทุกประการ เพียงแต่ผลที่เกิดขึ้นย่อมอ่อนกว่าเท่านั้นเอง

ปัจจัยทั้ง 22 ในดวงชะตาสามารถเกิดเป็นปัจจัยสะท้อนในดวงชะตาได้ หรือแม้แต่ศูนย์รังสี หรือจุดไหวตัวแบบ A+B-C ก็สามารถเกิดเป็นปัจจัยสะท้อนขึ้นมาได้ทั้งสิ้น (ปัจจัยสะท้อนของ  A+B-C มีกำลังน้อยมากจนในทางปฏิบัติจริงคงไม่มีคนนำมาใช้)

แกนสะท้อนในดวงชะตานั้นมี 2 แกน คือ เมษ-ตุล และ กรกฏ-มกร โดยหลักนิยมของบ้านเราจะนิยมแกน เมษ-ตุล มากกว่า แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่ว่าเราจะใช้แกนสะท้อน เมษ-ตุล หรือ กรกฏ-มกร ก็ตาม ถ้าเราตั้งดวงชะตาด้วยจานหมุนแบบ 90, 45 หรือ 22:30 องศา จุดสะท้อนที่เกิดจากแกน เมษ-ตุล และ กรกฏ-มกร ก็จะถูกส่งมารวมตรงที่เดียวกันอยู่ดี

เรื่องของจุดสะท้อนนี้ไม่ได้นึกสร้างกันขึ้นมาลอยๆ แต่ความจริงแล้วมาจากจุดไหวตัวประเภท A+A-B

หากเข้าใจเรื่องพระเคราะห์สนธิในยูเรเนี่ยน ก็จะเข้าใจดีว่าจุดไหวตัวประเภท A+A-B นั้น โดยสรุปก็คือการเอาดาว A มาเป็นแกนสะท้อนดาว B นั่นเอง

ในกรณีของจุดสะท้อนก็คือ AR+AR-ปัจจัย

คือเอา AR(แกนเมษ)เป็นแกนไปสะท้อนปัจจัย ทำให้เกิดเป็นจุดไหวตัวขึ้นมา ซึ่งในที่นี้ก็คือจุดสะท้อนของปัจจัยที่พูดถึง

แกน AR นั้นมีความหมายว่า “โดยทั่วไป” เมื่อเอา AR+AR นี้ไปผสมกับความหมายของปัจจัยอะไรก็ตาม ก็เลยเกิดเป็น “ความทั่วไป” รวมกับความหมายของปัจจัยนั้นๆ

เช่น AR+AR-VE = จุดสะท้อนดาวศุกร์ ก็คือ ทั่วไป+ความรัก เป็นความรักที่ถูกความทั่วไปจือจางไปแล้วครึ่งนึง ดังนั้นที่ว่าดาวสะท้อนมีแรงอ่อนกว่าดาวจริง 50% ก็ดูมีเหตุผลพอสมควรทีเดียว

:)


วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564

Geocentric

โลกและดาวเคราะห์โคจรโดยมีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง แต่โหราศาสตร์เราใช้โลกเป็นศูนย์กลางในการสังเกตุตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่างๆ รวมไปถึงดวงอาทิตย์

Geocentric และ Heliocentric



โหราศาสตร์ (Astrology) และดาราศาสตร์ (Astronomy) ล้วนเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว โดยโหราศาสตร์นั้นเอาความเป็นไปของดาวบนฟ้า(บางดวง)มาอธิบายความเป็นไปของโลกหรือชีวิตของผู้คน ในขณะที่ดาราศาสตร์นั้นเป็นเรื่องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับดวงดาวและท้องฟ้าล้วนๆ จะมีส่วนที่เกี่ยวมาถึงคนบนโลกบ้างก็เป็นเรื่องในทางกายภาพ ไม่ใช่ชะตาชีวิตแบบที่โหราศาสตร์ชอบพูดกัน

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงดาราศาสตร์จะนึกถึงองค์การ NASA แต่พูดถึงโหราศาสตร์จะนึกถึงหมอดูนี่แหละ

ความจริงโหราศาสตร์และดาราศาสตร์มันก็เคยเป็นวิชาเดียวกันมาก่อนนั่นแหละ แต่สุดท้ายก็แยกทางจนขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง จะบอกว่าวิชาโหราศาสตร์แท้จริงก็คือวิชาดาราศาสตร์โบราณก็คงพอจะได้

เนื่องจากโหราศาสตร์เป็นดาราศาสตร์โบราณ การสังเกตและอธิบายดวงดาวและท้องฟ้าจึงเป็นไปตามแบบของคนโบราณ เช่นว่าโลกเป็นศูนย์กลางการโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างๆ 

ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะคนโบราณเขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เนื่องจากใช้โลกเป็นจุดศูนย์กลางของการสังเกต ทำนองเรายืนบนรถไฟที่กำลังวิ่งแล้วมองไปที่ภูเขา ก็จะรู้ว่าตัวเองนั่นอยู่กับที่แต่ภูเขาต่างหากที่วิ่งหนีเราไป อะไรทำนองอย่างนั้น

ต่อมาเมื่อความรู้ทางดาราศาสตร์เจริญมากขึ้น เรื่องที่ว่าดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางก็กลายเป็นเรื่องสามัญไป

วิธีการระบุตำแหน่งดาวต่างๆ โดยใช้โลกเป็นจุดศูนย์กลางนี้เรียกว่า “Geocentric” เป็นวิธีการพื้นฐานที่วิชาโหราศาสตร์ใช้กันทุกสำนัก ที่เรียกว่าค่าสมผุส คือบอกขณะนั้นๆดาวดวงนั้นดวงนี้อยู่ในตำแหน่งไหน(ราศีอะไร) ก็ล้วนแล้วแต่เป็น Geocentric ทั้งสิ้น (Geo แปลว่าโลก)

ส่วนวิธีการที่เรียกว่า Heliocentric เป็นวิธีการระบุตำแหน่งโดยใช้ดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง (Helio แปลว่าดวงอาทิตย์) เป็นวิธีการของดาราศาสตร์สมัยใหม่ แต่ก็มีนักโหราศาสตร์หัวก้าวหน้าบางสำนักนำไปใช้บ้าง ตรงนี้ก็คงไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไร 

เพราะสุดท้ายโหราศาสตร์ก็ไปจบที่การพยากรณ์ และมีคอขวดสุดท้ายอยู่แค่คำว่า “แม่น” กับ “ไม่แม่น” เท่านั้นเอง

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

นิรายนะ และ สายนะ

 

ขึ้นชื่อว่าวิชาโหราศาสตร์ ไม่ว่าจะของชาติไหนสำนักไหนก็เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของท้องฟ้าและดวงดาวไปได้พ้น

แต่นักโหราศาสตร์ไม่ใช่นักดาราศาสตร์ เพราะนักโหราศาสตร์ไม่ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของดาวบนฟ้าด้วยกล้องดูดาว หากแต่ใช้ปฏิทินโหราศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจกับตำแหน่งของดวงดาวต่างๆ

ปฏิทินดาวเลยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการโหราศาสตร์

พูดถึงปฏิทินดาวแล้ว ก็ต้องกล่าวต่อไปอีกว่า ปฏิทินดาวที่เราใช้กันในวงการโหราศาสตร์ทุกวันนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระบบด้วยกัน ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้แยกขาดออกจากกัน เอามาใช้ปะปนกันไม่ได้เพราะตำแหน่งดาวต่างๆ มันจะไม่ตรงกัน

2 ระบบที่ว่านี้ก็คือ "นิรายะนะ"(นิ-รา-ยะ-นะ) กับ "สายนะ"(สา-ยะ-นะ) คิดว่าบางท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินในระบบ นิรายะนะ หรือ สายนะ ต่างก็แบ่งท้องฟ้า (ความจริงคือเส้นวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์) ออกเป็น 12 ส่วน โดยมีพื้นที่แต่ละส่วนเท่ากันคือ 30 องศา (รวม 12 ส่วนก็ครบ 360 องศาพอดี)

ซึ่งก็คือสิ่งที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเลยว่า 12 ราศี ซึ่งประกอบไปด้วย ราศี เมษ พฤษภ เมถุน กรกฏ สิงห์ กันย์ ตุล พิจิก ธนู มกร กุมภ์ และ มีน ดังที่น่าจะรู้จักกันดีโดยทั่วไป

ชื่อของราศีทั้ง 12 นี้มาจากชื่อของกลุ่มดาวฤกษ์ที่จะเห็นเป็นฉากด้านหลังเมื่อดวงอาทิตย์ค่อยๆโคจรเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ(จากการสังเกตของคนบนโลก) ซึ่งจะครบ 12 กลุ่มดาวเมื่อดวงอาทิตย์โคจรครบ 1 รอบ (ความจริงคือโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่เนื่องจากเราสังเกตุอยู่บนโลกโดยมองไปที่ดวงอาทิตย์จึงว่าเป็นดวงอาทิตย์ต่างหากที่โคจรไป)

ก็เอาชื่อของกลุ่มดาวฤกษ์ทั้ง 12 นั่นแหละมาสมมุติตั้งเป็นชื่อให้กับพื้นที่ทั้ง 12 ที่ได้สมมุติแบ่งเอาไว้ (ความจริงมีกลุ่มดาวที่ 13 ด้วยคือดาวคนแบกงู แต่ถูดตัดทิ้งออกไปเพราะมันยุ่งยากไม่ลงตัว)

จะ นิรายะนะ หรือ สายนะ ก็มี 12 ราศีเหมือนกัน

เวลาระบุตำแหน่งดาวบนท้องฟ้าก็ใช้วิธีการบอกโดยอ้างอิงกับราศี(ที่เปรียบเสมือนการกั้นแบ่งห้องให้ท้องฟ้าเป็น 12 ห้อง) 

เช่นขณะนี้วันที่ 06/01/2564 เวลา 21.49.00 ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งราศีมกร 16 องศา 30 ลิปดา 14 ฟิลิปดา

หมายความว่าขณะนี้ดวงอาทิตย์ได้วิ่งเข้ามาอยู่พื้นที่ราศีมกร โดยวิ่งเข้ามาแล้ว 6 องศา 30 ลิปดา 14 ฟิลิปดานับจากจุดเริ่มต้นของราศีมกร ถ้าวิ่งพ้นจากราศีมกรแล้วก็จะเข้าสู่พื้นที่ของราศีกุมภ์ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนถัดไป

จะ นิรายะนะ หรือ สายนะ ก็ใช้วิธีการระบุตำแหน่งดาวเช่นนี้เหมือนกันหมด

แล้วมันจะต่างกันตรงไหน?

คำตอบก็คือต่างกันตรงการกำหนดจุดเริ่มต้น(องศาที่ 0)ของราศีแรก ซึ่งก็คือราศีเมษ

โดยระบบ นิรายะนะ ใช้ตำแหน่งเวลาในวันที่ดวงอาทิตย์เล็งตรงเข้ากับกลุ่มดาวฤกษ์อัศวินีเป็นจุดเริ่มต้น 0 องศาราศีเมษ พอได้จุดเริ่มต้นมาแล้วก็ง่าย เพราะที่เหลือก็แค่วัดไปอีกส่วนละ 30 องศาจนครบเส้นรอบวงกลม(ครบรอบ 1 ปี)เท่านั้นเอง

วันซึ่งดวงอาทิตย์เล็งตรงเข้ากับกลุ่มดาวฤกษ์อัศวินีก็คือวันที่ 13 เมษา หรือก็คือวันสงกรานต์ที่เราสาดน้ำเล่นสบายใจกันนั่นเอง 

และเนื่องจากโลกของเรานั่นเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับจักรวาลและกลุ่มดาวฤกษ์ทั้งหลาย ดังนั้นวันซึ่งดวงอาทิตย์เล็งตรงเข้ากับกลุ่มดาวฤกษ์อัศวินีนี้จึงคงที่ กี่ปีกี่ปีก็มาลงที่ 13 เมษาเหมือนเดิมตลอดไม่เคยเปลี่ยนแปลง

จึงเรียกระบบ นิรายนะ นี้ว่าระบบราศีคงที่

แต่ปรากฏว่าพอใช้ไปนานๆ ตำแหน่ง 0 องศาราศีเมษซึ่งควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิก็เริ่มคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับฤดูกาลที่เกิดขึ้นจริง (เนื่องจากเหตุผลทางกายภาพบางประการเช่นโลกค่อยๆโคจรช้าลงทุกปี เป็นต้น) จึงมีผู้ค้นวิธีการกำหนดจุด 0 องศาราศีเมษขึ้นมาใหม่

วิธีการที่ว่านี้ใช้ปรากฏการในเชิงฤดูกาลของดวงอาทิตย์ที่สำคัญ 4 ปรากฏการ มาเป็นตัวมาร์คตำแหน่งของเส้นวงรอบจักราศี

นั่นก็คือวันเหมายัน(กลางคืนสั้นที่สุด สิ้นสุดฤดูหนาว) วสันตวิษุวัต(กลางวันและกลางคืนเท่ากัน) ครีษมายัน(กลางวันนานที่สุด สิ้นสุดฤดูร้อน) และศารทวิษุวัต(กลางวันและกลางคืนเท่ากัน)

โดยกำหนดให้วันวสันตวิษุวัต คือตำแหน่ง 0 องศาราศีเมษ 

(วันครีษมายันคือตำแหน่ง 0 องศาราศีกรกฏ วันศารทวิษุวัตคือตำแหน่ง 0 องศาราศีตุล และวันเหมายันคือตำแหน่ง 0 องศาราศีมกร) 

วิธีการแบบนี้สอดคล้องกับฤดูกาลบนโลกมากกว่า ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยกี่พันปีก็ไม่มีการผิดเพี้ยนหรือคลาดเคลื่อนในเรื่องของฤดูกาล ก็เรียกระบบนี้ว่า ระบบสายนะ หรือระบบราศีเคลื่อนที่

เพราะปรากฏว่าจุด 0 องศาราศีเมษในระบบนี้ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกห่างจากจุด 0 องศาราศีเมษของระบบนิรายนะไปปีละนิดปีละหน่อย

แต่แรกเริ่มเดิมทีเมื่อหลายพันปีก่อน ปฏิทินระบบนิรายะนะและสายนะมีความความต่างกันน้อยมาก แทบจะใช้แทนกันได้ แต่พออยู่ไปนานๆ ค่าการคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นก็ค่อยๆ ทบทวีมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจุด 0 องศาราศีเมษของทั้ง 2 ระบบก็ห่างกันออกไปมาก

ค่าความห่างกันของทั้ง 2 ระบบนี้เรียกว่า "ค่าอายนางศ์" (อา-ยะ-นาง หรือ อา-ยะ-นาง-สะ)

ทุกวันนี้ค่าอายนางศ์สะสมจนอยู่ที่ประมาณ 24 องศา 3 ลิปดา (แล้วแต่สำนักคำนวน แต่โดยมากก็จะประมาณนี้)

นั่นหมายความว่าจุด 0 องศาราศีเมษของระบบนิรายนะและสายนะ ทุกวันนี้ห่างกันตั้ง 24 องศานิดๆ

ดังนั้นถ้าสมมุติว่าเราเปิดปฏิทินระบบนิรายะนะขึ้นมา แล้วพบว่าดาวอังคารอยู่ในตำแหน่ง 10 องศาราศีเมษ แต่ถ้าไปดูในปฏิทินระบบสายนะ จะพบว่าดาวอังคารจะไปอยู่ที่ 04 องศาราศีพฤษโน่นเลย  

มันเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงใช้ปฏิทินข้ามระบบกันไม่ได้ สำนักหนึ่งว่าอยู่เมษแต่อีกสำนักว่าอยู่พฤษภ

เอามาใช้มั่วปนกัน ...เละแน่นอน

แต่ถ้าใครจะดันทุกรังใช้ข้ามระบบจริงๆ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเอาค่าอายนางศ์ไปบวกหรือลบก่อนเพื่อแปรให้เป็นอีกระบบหนึ่งซึ่งไม่สะดวกเอาเสียเลย

สำหรับโหราศาสตร์ทางภาคตะวันออกเช่นโหราศาสตร์ไทยหรืออินเดียจะใช้ปฏิทินระบบนิรายะนะเป็นหลัก(เช่นปฏิทินสุริยยาตร์ หรือปฏิทินลาหิรี) ส่วนโหราศาสตร์ทางภาคตะวันตกเช่นโหราศาสตร์สากลจะใช้ปฏิทินระบบสายนะ(เช่นปฏิทินราฟาเอล หรือปฏิทินสวิต)

ปิดท้ายด้วยคำถามทองคำว่าอะไรดีกว่ากัน ระบบไหนผิดระบบไหนถูก หรือก็คือระบบไหนแม่นกว่ากัน?

ก็ยังคงตอบแบบกำปั้นทุบดินเหมือนเดิมว่า "เรียนมาแบบไหนใช้แบบนั้นเถิดจะเกิดผล"

:)


วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564

สุริยยาตร์และลาหิรี

อธิบายกันอย่างง่ายๆ "สุริยยาตร์" เป็นชื่อของคัมภีร์โบราณ เนื้อหาข้างในเป็นสูตรที่ใช้คำนวณปฏิทินโหราศาสตร์ที่โหรไทยเราใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ (แน่นอนว่าเรารับมาจากอินเดียอีกที) ปฏิทินโหรที่คำนวนตามหลักการในคัมภีร์นี้มักถูกเรียกว่า ปฏิทินสุริยยาตร์ 

ส่วน "ลาหิรี" (Lahiri) เป็นชื่อของปฏิทินโหราศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในวงการโหราศาสตร์มากที่สุดระบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการสังคยนาปฏิทินใหม่โดยมีรัฐบาลอินเดียเป็นเจ้าภาพ โดยชื่อลาหิรีเป็นชื่อของนักคำนวนปฏิทินชาวอินเดียโต้โผสำคัญในการทำสังคยนาครั้งนี้

ทั้งสุริยยาตร์และลาหิรีล้วนเป็นปฏิทินในระบบนิรายนะ(ราศีคงที่)ทั้งสิ้น

ความจริงผลการคำนวนตำแหน่งดาวที่ได้จากสองอันนี้ก็ใกล้เคียงกัน แต่ความแตกต่างกันนั้นย่อมมีอยู่อย่างแน่นอน

เนื่องจากสุริยยาตร์เป็นคัมภีร์โบราณ มีมาเป็นพันๆปีแล้ว ในขณะที่ลาหิรีเพิ่งเกิดยุคหลังสมัยที่อังกฤษบุกไปยึดอินเดียเรียบร้อยไปนานโขแล้วนี้เอง ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ความสดใหม่ทางวิชาการทำให้ตำแหน่งดาวของลาหิรีมีความแม่นยำใกล้เคียงกับดาวจริงบนท้องฟ้ามากกว่า

แต่เดิมมา โหรไทยเราใช้สุริยยาตร์เป็นหลัก ต่อมาเริ่มมีโหรรุ่นใหม่นำเอาปฏิทินลาหิรีมาใช้ ด้วยเหตุผลว่ามันตรงกับดาวบนฟ้ามากกว่า

ตรงนี้ก็เริ่มจะเกิดเป็นดราม่ากันขึ้นมา เพราะมันแตกเป็นสองพวก ต่างก็ว่าวิธีการที่ตัวเองยึดถือดีแท้แน่นอนกว่าอีกวิธีการหนึ่ง .... ซึ่งเป็นธรรมดาของชาวโลก

ทีนี้มาถึงคำถามทองคำประจำวงการก็คือ อย่างไหนดีกว่ากัน? หรือความจริงก็คือกำลังถามว่าอย่างไหนแม่นกว่ากัน?

คำตอบแบบจริงจังก็คือ ความแม่นยำของปฏิทินแทบไม่ใช่ตัวชี้วัดสำคัญอะไรเลยสำหรับความแม่นยำของคำพยากรณ์ เพราะปรากฏว่าทั้งสองค่ายต่างก็มีครูบาอาจารย์ หรือโหราจารย์ฝีมือฉมังด้วยกันทั้งสิ้น และมีกันฝ่ายนึงก็ไม่ใช่น้อยคน

ทั้งสองแบบมันถูกเวลาทดสอบมาแล้วอย่างโชกโชนว่าล้วนใช้งานได้ดีทั้งสิ้น

สรุปง่ายๆ คือแม่นไม่แม่นเอาจริงๆ มันอยู่ที่คนล้วนๆ อันนี้พูดจริงไม่มุสา

ดังนั้นใครเรียนมาอย่างก็ควรใช้ไปอย่างนั้นเป็นพื้นฐาน แต่ถ้าวิชาแก่กล้าสามารถจะทดลองไปใช้อีกระบบหนึ่งเป็นค้นคว้าเปรียบเทียบก็ย่อมไม่ผิดแต่ประการใด

🙂

ปล. ยูเรเนี่ยนใช้ปฏิทินสากล เช่นปฏิทินราฟาเอล หรือปฏิทินสวิต เป็นปฏิทินโหราศาสตร์ระบบสายนะ คนล่ะเรื่องกับนิรายนะอย่างสุริยยาตร์หรือลาหิรี เพราะการกั้นห้องแบ่งราศีขานตำแหน่งดาวห่างกันตั้งประมาณ 24 องศานิดๆ

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564

ปัญจมหาบุรุษ​โยค

"ปัญจมหาบุรุษ​โยค" เป็นรูปแบบของดาวในดวงชะตาซึ่งโหรฮินดูยกย่องกันว่าให้คุณต่อเจ้าชะตาเป็นอย่างยิ่ง (มีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบ)

เงื่อนสำคัญที่จะทำให้เกิดเป็นปัญจมหาบุรุษ​โยคขึ้นมาก็คือ การที่ดาวอังคาร(MA)​ ดาวพุธ​(ME)​ ดาวพฤหัส​(JU)​ ดาวศุกร์​(VE​) หรือ​ดาวเสาร์​(SA)​ อยู่ในตำแหน่งซึ่งได้คุณสมบัติเป็นเกษตร(Rule) หรืออุจ(Exaltation) และในขณะเดียวกันก็จะต้องสถิตอยู่เรือนเกณฑ์คือ 1, 4, 7 หรือ 10 จากลัคนาอีกด้วย

เราสามารถแยกปัญจมหาบุรุษ​โยคออกเป็นรูปแบบย่อยได้ 5 รูปแบบด้วยกันคือ

1. "รุจกะโยค"​ คือมีดาวอังคารซึ่งเป็นเกษตรหรืออุจ อยู่ในเรือน 1, 4,7 หรือ 10

2. "ภัทระโยค"​ คือมีดาวพุธซึ่งเป็นเกษตรหรืออุจ อยู่ในเรือน 1, 4,7 หรือ 10

3. "หังสะโยค"​ คือมีดาวพฤหัส​ซึ่งเป็นเกษตรหรืออุจ อยู่ในเรือน 1, 4,7 หรือ 10

4. "มาลัยโยค​" คือ​ มีดาวศุกร์ซึ่งเป็นเกษตรหรืออุจ อยู่ในเรือน 1, 4,7 หรือ 10

5. "ศะศะโยค"​ คือมีเสาร์ซึ่งเป็นเกษตรหรืออุจ อยู่ในเรือน 1, 4,7 หรือ 10

รูปแบบทั้ง 5 นี้จะให้คุณโดดเด่นไปทางใดแก่ชีวิตก็ขอให้พิจารนาจากความหมายของดาวแต่ละดวงรวมไปถึงเรือนที่ดาวสถิต

เช่นถ้าดวงชะตาหนึ่งมีดาวพุธเป็นอุจอยู่ในเรือน 10 ก็คือได้เกณฑ์ภัทระโยค โดดเด่นเรื่องปัญญา ฝีปาก คำพูด หรือการเขียน โดยเฉพาะหน้าที่การงานทางนี้จะโดดเด่นไม่เป็นรองใคร เป็นต้น

โดยทั่วไปถือกันว่าปัญจมหาบุรุษ​โยคทั้ง 5 ​จะยิ่งให้คุณอย่าง​เต็มที่ก็ต่อเมื่อดาวในเรือน ​1, 4,7 หรือ 10 นั้นอยู่โดดๆ ไม่ได้อยู่ร่วมกับดาวดวงอื่น (ก็คือเป็นดาวสันโดษในเรือนชะตา)​ 

ยิ่งถ้าดาวเหล่านี้อยู่ในค่าวังกะ(ORB)ที่สนิทองศากับลัคนาก็จะถือว่าให้กำลังได้มากยิ่งขึ้นไปอีก


:)